xs
xsm
sm
md
lg

แฉแผนยึดอำนาจปตท.! เบื้องหลัง"ไพรินทร์"คัมแบ็ก

เผยแพร่:


ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตCEO และชาญศิลป์ ตรีนุชกร CEO ปตท.คนปัจจุบัน
**เปิดเบื้องหลังเกม"ไพรินทร์"ทุ่มสุดตัวจ่อขึ้นแท่นประธานบอร์ด หวังคุมช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสรรหาCEOคนใหม่ล็อกเป้าตัวตายตัวแทน"ชาญศิลป์"ยึด-สืบทอดอำนาจเบ็ดเสร็จ**

ปตท.เป็นบริษัทใหญ่ที่มี์มูลค่าตลาดกว่า1.3 ล้านล้าน กำไรปีละกว่าแสนล้าน แต่ละปีมีแผนการลงทุนปีละหลายหมื่นล้านบาท

การเคลื่อนไหวภายในปตท.ล่าสุดกำลังถูกจับตามองอย่างมาก เนื่องจาก ในการประชุมคณะกรรมการบริหารหรือบอร์ด ปตท.เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ได้พิจารณาแต่งตั้งนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคม และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท. เป็นกรรมการและกรรมบริหารความเสี่ยงองค์กร แทนนายณัฐชาติ จารุจินดา ที่ครบวาระโดยจะส่งชื่อให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) พิจารณาคุณสมบัติก่อนเข้ารับตำแหน่งต่อไป

หลังจากมติบอร์ดออกมา ปรากฎว่า มีกระแสข่าวตามมาว่า หลังจากผ่านขั้นตอนที่สคร.ตรวจสอบคุณสมบัตินายไพรินทร์และกรรมการที่ตั้งขึ้นใหม่พร้อมแล้ว บอร์ดปตท.จะเรียกประชุมเพื่อที่จะพิจารณาเลือก นายไพรินทร์ขึ้นเป็นประธานบอร์ด ปตท.คนใหม่ แทนนายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ที่นั่งเป็นประธานกรรมการและกรรมการอิสระ อยู่ในปัจจุบัน

การประชุมบอร์ดเมื่อวันที่14พ.ย.ที่ผ่านมาจึงถูกมองว่า เป็นความจงใจและเจตนาอะไรบางอย่างที่รีบเร่งให้นายไพรินทร์เข้ามาเป็นกรรมการโดยเข้าสู่อำนาจในขั้นตอนแรก

แหล่งข่าวระดับสูงในปตท.เปืดเผยว่า เรื่องนี้ก่อให้เกิดคำถามอย่างมาก ว่า ทำไมต้องรีบเปลี่ยนตัวประธานบอร์ด เพราะ เดิมระหว่างปตท.กับกระทรวงพลังงานในฐานะผู้กำกับดูแลปตท.ไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนประธานบอร์ดในระหว่างนี้แต่อย่างใด โดยจะรอจนถึงครบวาระในเดือนเมษายนปี 2563

คำถามสำคัญ คือ การคัมแบ็กเข้ามาปตท.ของนายไพรินทร์ และเดินหน้าเต็มตัวที่จะพยายามให้บอร์ดตั้งนายไพรินทร์เป็นประธานบอร์ดปตท.ก็ เพื่อให้ทันช่วงที่จะมีการสรรหาซีอีโอปตท.คนใหม่ ใช่หรือไม่?

ปัจจุบัน ปตท.กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาหาบุคคลที่จะเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอต่อจากนายชาญศิลป์ ตรีนุชกรประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  ที่จะครบวาระในเดือนพฤษภาคม 2563 

ก่อนนี้ บอร์ดปตท.มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาซีอีโอคนใหม่จำนวน 5 คน โดยเปิดรับสมัครมาตั้งแต่วันที่ 4พ.ย.ไปจนถึง 26 พฤศจิกายน 2562

ทั้งนี้ การตั้งคณะกรรมการสรรหาซีอีโอปตท.ครั้งนี้ ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ว่ากันว่า มีความโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน และ มีการเคลื่อนไหวจัดตัวแทนโดยคนกลุ่มเดียวกันกับนายไพรินทร์ซึ่งไม่มีการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหาให้สาธารณะรับทราบกันโดยทั่วไปเหมือนที่ผ่านๆมา

มีรายงานว่า คณะกรรมการสรรหาทั้ง5คน ไม่มีตัวแทนจากกระทรวงพลังงานและคลังเลย ทำให้สังคมประหลาดใจว่า กระทรวงพลังงาน และ กระทรวงการคลังในฐานะผู้กำกับและผู้ถือหุ้นใหญ่เหตุใดจึงไม่มีสิทธิมีเสียงในการเลือกคนมาบริหารปตท.โดยเป็นได้แค่คนนอกที่มองดู

การที่ นายไพรินทร์ เข้ามาพร้อมกับแผนจะผลักดันตัวเองขึ้นเป็นประธานบอร์ดปตท.ว่ากันว่า นายไพรินทร์เป็นผู้เคลือนไหวด้วยตัวเอง เดินเข้าเจรจากับผู้มีอำนาจ ผ่านสายสัมพันธ์ที่เคยมีในช่วงที่ได้รับความไว้วางใจจาก พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้นั่งรมช.คมนาคมในสมัยคสช.ก็เพื่อชิงเปิดเกมรุกยึดอำนาจโดยไม่รอให้ถึงเมษายนปีหน้า เพราะไม่แน่ใจว่า เมื่อถึงเวลานั้นจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้

สำหรับคนที่มีชื่อชิงตำแหน่งซีอีโอปตท.ตามกระแสข่าว ประกอบด้วย 1.นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ไออาร์พีซี 2.นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ไทยออยส์ จำกัด (มหาชน)  และ 3.นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท.

นายไพรินทร์เคยเป็นซีอีโอปตท.ได้รับเลือกปี2554ต่อจากนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อยู่ในวาระ4ปีก่อนจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อปี2558

หากนายไพรินทร์หวนคืนปตท.และได้นั่งประธานบอร์ดคราวนี้ก็น่าจะมั่นใจได้ว่า การสืบทอดอำนาจในปตท.จะไม่หลุดไปจากที่เหขาวางแผนไว้

นั่นคือ คนที่จะผ่านคณะกรรมการสรรหาย่อมเป็นคนสายเดียวกันกับ นายชาญศิลป์ ซีอีโอคนปัจจุบันที่เป็นคนของนายไพรินทร์วางไว้เช่นกัน

เมื่อไพรินทร์ก้าวขึ้นคุมตั้งแต่บอร์ด และ กำกับซีอีโอ เท่ากับยึดอำนาจและสืบทอดอำนาจปตท.ไว้ในมืออย่างเบ็ดเสร็จ

ทว่า ก็ต้องรอดูปฎิกิริยาของฝ่ายรัฐบาลที่กำกับโดยเฉพาะกระทรวุงพลังงาน และ ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างกระทรวงการคลังด้วยจะว่าอย่างไร

ประกอบกับเมื่อมีการหยิบยก"ผู้มีอำนาจ"ในรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็คงเป็นเรื่องที่ยิ่งต้องทำให้โปร่งใส ในทุกขั้นตอน

ศึกชิงอำนาจปตท.จะเป็นอย่างไรต้องติดตามต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น