xs
xsm
sm
md
lg

ซอฟต์แบงก์ทาบLINE ชวนปั้น“อาลีบาบา”เวอร์ชันญี่ปุ่น

เผยแพร่:


 “เพย์เพย์” ของซอฟต์แบงก์ จะได้เป็นทองแผ่นเดียวกับ “ไลน์ เพย์” ถ้าดีลนี้ลุล่วงตามแผน
แม้เพิ่งขาดทุนยับจากแพล็ตฟอร์มออฟฟิศแชร์ริ่ง “วีเวิร์ก” แต่นอกจากไม่ถอดใจ นักลงทุนระดับมาซาโยชิ ซัน ซีอีโอซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป ยังมองข้ามช็อตไปถึงบิ๊กโปรเจ็กต์ใหม่ นั่นคือการสร้างระบบนิเวศออนไลน์กว้างใหญ่ไพศาลแบบเดียวกับอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และทางลัดสู่วิสัยทัศน์นี้คือ “ไลน์” แอปแชตขวัญใจมหาชนที่รวมถึงคนไทย

ยาฮู เจแปน หนึ่งในบริษัทอินเทอร์เน็ตระดับท็อปของญี่ปุ่นที่เมื่อเดือนที่แล้วเพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็นแซด โฮลดิ้งส์ ยืนยันว่า กำลังคุยเรื่องผนวกกิจการกับไลน์ ผู้ให้บริการแอปรับส่งข้อความที่มีมูลค่าถึง 27,000 ล้านดอลลาร์ แต่ยังไม่มีการตัดสินใจ และซอฟต์แบงก์ กรุ๊ปที่ถือหุ้นเกือบครึ่งในแซด โฮลดิ้งส์ ออกมายอมรับเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

ทางด้านไลน์แถลงเมื่อวันพฤหัสฯ (14) ว่า กำลังพิจารณาทางเลือกต่างๆ ในการเพิ่มมูลค่าบริษัท แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ขณะที่แหล่งข่าววงให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ก่อนหน้านั้นหนึ่งวันว่า มีแนวโน้มที่ดีลนี้จะลุล่วงภายในสิ้นเดือน โดยที่ซอฟต์แบงก์และเนเวอร์ บริษัทแม่ของไลน์จากเกาหลีใต้ จะร่วมกันตั้งบริษัทร่วมทุนแบบ 50-50 เพื่อควบคุมแซด โฮลดิ้งส์ ที่จะดูแลไลน์และยาฮู เจแปนต่ออีกทอด
แต่ข่าวบางกระแสบอกว่า บริษัทใหม่ภายหลังการผนวกซึ่งเฉพาะในญี่ปุ่นประเทศเดียวจะมีผู้ใช้กว่า 100 ล้านคนนั้น จะเป็นบริษัทในเครือของซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป

แหล่งข่าววงในอีกคนเผยว่า ซันสนใจไลน์มานานแล้ว ขณะที่ผู้บริหารคนหนึ่งของซอฟต์แบงก์บอกว่า ซันต้องการสร้างอาลีบาบาเวอร์ชันญี่ปุ่น โดยให้ยาฮู เจแปนเป็นแกนหลัก

อาลีบาบานั้นเป็นโปรเจ็กต์การลงทุนใหญ่ที่สุดของซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป และสร้างความสำเร็จสูงสุดให้แก่ซัน จากวันนั้นถึงวันนี้อาลีบาบาแผ่ขยายกิ่งก้านจากอี-คอมเมิร์ซเข้าสู่ธุรกิจมากมายหลากหลาย ซึ่งรวมถึงกระเป๋าเงินดิจิตอล “อาลีเพย์” ที่มีผู้ใช้กว่า 1,000 ล้านคน

หากดีลนี้ลุล่วงจะเป็นการปฏิวัติวงการเทคโนโลยีครั้งใหญ่ และยังเป็นการรวมตัวของสองผู้ให้บริการแอปชำระเงินผ่าน QR Code ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น
ทั้งนี้ “เพย์เพย์” บริการชำระเงินบนมือถือที่ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ปเปิดตัวร่วมกับยาฮู เจแปนเมื่อเดือนตุลาคม 2018 มีผู้ใช้ 19 ล้านคนจากการใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุก ส่วนไลน์ เพย์สามารถเข้าถึงผู้ใช้ไลน์แอปในญี่ปุ่นที่มีอยู่ถึง 82 ล้านคน

ซอฟต์แบงก์นั้นเพิ่งรายงานยอดขาดทุนประจำไตรมาส 3 สูงถึง 6,440 ล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นผลงานย่ำแย่ที่สุดและเป็นการขาดทุนประจำไตรมาสครั้งแรกในรอบ 14 ปี สาเหตุใหญ่มาจากการที่กองทุนในเครือคือ วิชั่นฟันด์ ไปลงทุนในวีเวิร์ก สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม เศรษฐีพันล้านอย่างซันประกาศในงานแถลงข่าวว่า จะ “ทบทวน” การคิดคำนวณผิดพลาดของตัวเอง แต่จะไม่ “ถอดใจ” เด็ดขาด

และขณะที่เผชิญเส้นทางวิบากในการทุ่มลงทุนกับสตาร์ทอัพที่เน้นสายปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในต่างแดน ก้าวต่อไปของซันจึงหันมาโฟกัสในญี่ปุ่นแทน
ซันเตรียมการเรื่องนี้มานานแล้ว โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ปจัดแจงเปลี่ยนแซด โฮลดิ้งส์ที่ ณ วันพุธที่ผ่านมา (13) มีมูลค่า 17,000 ล้านดอลลาร์ เป็นบริษัทย่อยที่นำงบการเงินไปรวมกับบริษัทแม่คือซอฟต์แบงก์ ผู้ให้บริการการสื่อสารไร้สายในญี่ปุ่น และในภาวะที่ตลาดมือถือแดนซากุระถึงจุดสูงสุดแล้ว การนำบริษัทย่อยสองแห่งมารวมกันจึงหมายถึงการเริ่มต้นสำหรับการเติบโตครั้งใหม่

ต่อมาในเดือนกันยายน แซด โฮลดิ้งส์ตัดสินใจเข้าซื้อธุรกิจแฟชั่นออนไลน์ “โซโซ” ของเศรษฐีพันล้าน ยูซากุ มาเอซาวะ ในราคา 3,700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการผนึกกำลังกับไลน์ในอนาคตจะช่วยให้โซโซเข้าถึงลูกค้าจำนวนมากขึ้น นอกจากนั้นยาฮู เจแปนจะได้ประโยชน์จากแอปชำระเงินบนมือถือของไลน์ แถมเป็นต่อคู่แข่งสำคัญอย่างแอมะซอน เจแปน และราคูเต็น ที่ยังอ่อนเรื่องแอปแชต

ส่วนไลน์ที่ปีที่แล้วขายหุ้นใหญ่ในบริษัทมือถือให้ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ปนั้น เพิ่งรายงานยอดขาดทุน 312 ล้านดอลลาร์ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นทุนการพัฒนาเทคโนโลยี

การผนวกกิจการครั้งนี้ยังเสริมส่งบริการทางการเงินของทั้งสองฝ่าย โดยแซด โฮลดิ้งส์นั้นมีเจแปน เน็ต แบงก์ เป็นหนึ่งในบริษัทในเครือ ส่วนไลน์มีแผนเปิดตัวแบงก์ใหม่ร่วมกับมิซูโฮะ ไฟแนนเชียล กรุ๊ปในปีการเงิน 2020

ไลน์และยาฮู เจแปนยังเติมเต็มกันในด้านฐานลูกค้า เพราะบริการของยาฮูป๊อปปูลาร์ในหมู่ผู้ใช้อายุ 40-50 ปี ขณะที่แอปไลน์ฮิตในกลุ่มวัยรุ่นและหนุ่มสาว ดังนั้น การเข้าถึงกลุ่มประชากรรุ่นเล็กของไลน์จึงช่วยส่งเสริมความยั่งยืนของบริการอื่นๆ ของยาฮูด้วย
ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ปยังหมายมั่นส่งเสริมธุรกิจโฆษณาออนไลน์โดยใช้ข้อมูลผู้ใช้แอปแชต รวมทั้งทักษะการตลาดและเทคโนโลยีของไลน์

อย่างไรก็ตาม กูรูชี้ว่า แม้ผนวกกันแล้ว บริษัทที่เกิดขึ้นใหม่จะยังคงตามหลังยักษ์ใหญ่จากอเมริกาและจีนในแง่ทรัพยากรสำหรับการวิจัยและพัฒนาในอนาคต ทว่า สามารถแก้เกมได้ด้วยการดึงเทคโนโลยีและโนว์ฮาวจากบริษัทเอไอที่ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ปลงทุนอยู่มาใช้ให้เป็นประโยชน์
กำลังโหลดความคิดเห็น