xs
xsm
sm
md
lg

'ทีโอที' ยื้อ เน็ตชายขอบ ชาวบ้านกว่า 7 หมื่นครัวเรือนรับกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส
ทีโอที ยื้อ ไม่เลิก หลัง กสทช.ยกเลิกสัญญา เน็ตชายขอบ เพื่อนำมาประมูลใหม่ให้เร็วที่สุด แต่กลับซื้อเวลาไม่เร่งตั้งคณะทำงานเจรจาให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ทำประชาชนสวัสดิการรัฐที่ลงทะเบียนใช้เน็ตตามบ้านเดือนละ 200 บาท กว่า 70,000 ครัวเรือนหรือประชา ชนกว่าแสนคนได้รับผลกระทบยกแผง เหตุต้องรอเปิดใช้งานพร้อมกัน หรือเป็นประชาชนที่ไม่ใช่ฐานเสียงพลังประชารัฐ รมว.ดีอีเอส ต้นสังกัดทีโอที เลยไม่ใส่ใจขณะที่ 'ฐากร' เร่งสปีด มั่นใจจัดประมูลซ่อมได้ภายในเดือน เม.ย.2563

ทันทีที่ 'ฐากร ตัณฑสิทธิ์' เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตัดสินใจส่งหนังสือยกเลิกสัญญาบริการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หรือเน็ตชายขอบ โซน ซี +กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หลังล่าช้ามาปีกว่า และจัดงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2562 เพื่อให้ทีโอที ตั้งคณะทำงานเข้ามาร่วมเจรจากับ กสทช. ภายใน 7 วัน ในการคืนพื้นที่โครงการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญา เพื่อให้กสทช.เปิดประมูลใหม่โดยเร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือน ต.ค. 2562 นั้น กลับไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง

***อ่านภาษาไทยไม่เข้าใจ ??

การแจ้งยกเลิกสัญญาวันนั้น กสทช.ต้องการให้ทีโอทีเข้ามาเจรจากันว่าพื้นที่ไหนส่งมอบได้ ก็ส่งมอบมาเพื่อกสทช.จะได้จ่ายเงิน และพื้นที่ไหนส่งมอบไม่ได้ กสทช.จะเปิดประมูลใหม่หาคนที่ทำได้มารับงานต

มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที
ทว่า ทีโอที กลับซื้อเวลา ยื้อไปยื้อมา จนเวลาผ่านไป 1 เดือนแบบไร้ประโยชน์

แทนที่ในช่วงเวลาที่ กสทช.ให้ตั้งคณะทำงานเข้ามาเจรจา ทีโอที จะเร่งสรุปเพื่อให้รู้ผลชัดเจนว่าพื้นที่ไหนส่งมอบได้ พื้นที่ไหนต้องประมูลใหม่ เพื่อให้โครงการเดินหน้าเร็วที่สุด ทีโอที กลับมัวนั่งทำหนังสือบิดเบือนข้อมูลชี้แจงต่อ 'พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ว่า โครงการกำลังจะทยอยเสร็จภายในเดือน พ.ย.แน่นอน ทั้งๆที่กสทช.ก็ยืนยันว่าเคเบิลใยแก้วหรือไฟเบอร์ ออปติกที่ใช้ของจีนนั้นผิดสเปก'ใช้ไม่ได้' เพราะใช้ไฟเบอร์ต่างประเทศ เนื่องจากทีโออาร์กำหนดให้ใช้ของในประเทศ

รวมถึงกระบวนการสร้างอาคารUSO Net 'ไม่เป็นไปตามทีโออาร์' ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำหนดให้อย่างเช่นต้องถ่ายรูปกระบวนการก่อสร้างเป็นระยะๆตามที่สัญญากำหนด แม้ว่าจะสร้างเสร็จก็ต้องรื้อใหม่หากผู้ตรวจรับงานเห็นว่าไม่ถูกต้องและไม่ผ่านขั้นตอนที่กำหนดในทีโออาร์ ที่ทีโอทียอมรับกติกามาตั้งแต่ต้น

'ที่ผ่านมา ทีโอที พยายามจะขอให้กสทช.ยกเลิกคำสั่ง หรือ ชะลอคำสั่ง ยกเลิกโครงการออกไปก่อน และพยายามชี้แจงว่าโครงการใกล้เสร็จ แต่คนตรวจรับงานไม่ตรวจรับ ซึ่งผมว่าหากธรรมศาสตร์ไม่ตรวจรับมันก็ถูกต้องแล้ว เพราะเขาไม่กล้ารับงานที่ผิดทีโออาร์ เรื่องนี้ไม่มีใครกลั่นแกล้ง ทำไม บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดเดียวกับทีโอที ส่งงานได้ ไม่มีปัญหา' แหล่งข่าวในกสทช.กล่าว


จนกระทั่งมาถึงวันที่ 22 ต.ค. 2562 ทีโอทีจึงค่อยส่งทีมงานเข้ามาคุย เพราะมั่นใจแล้วว่าสิ่งที่รายงานต่อ รมว. ดีอีเอส นั้นไม่มีพิรุธ และหาทางเอาผิดไม่ได้แน่ๆ ซึ่งแทนที่จะมีเอกสารและได้ข้อสรุป ที่ชัดเจน พร้อมเดินหน้าต่อไป ทีโอที กลับชี้แจงแค่ว่า 'จะตั้งคณะทำงานย่อยมาประชุมในวันที่ 28 ต.ค. 2562' ซึ่งผลการประชุมก็ยังทำให้อึ้งได้อีก เพราะการชี้แจงว่าโครงการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในเดือน พ.ย.แน่นอนถ้า กสทช.ไม่ยกเลิกสัญญาเสียก่อนตามที่แจ้งให้ รมว.ดีอีเอส ทราบ แต่ไฉนเมื่อมาเจรจากับ กสทช. เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา กลับทำได้แค่ 'จะดำเนินโครงการในพื้นที่ที่สามารถส่งมอบได้คือพื้นที่ที่ทำไปแล้ว 80 % ให้เสร็จภายในเดือน ธ.ค. 2562'

แต่แมสเสจนี้กลับถูกส่งไปยัง รมว.ดีอีเอส เพียงแค่ว่า กสทช.ขยายเวลาให้ทีโอทีดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี !!!

คนรายงานฉลาดมากหรือคนรับฟังรายงานฉลาดน้อย คิดไม่เท่าทันหรือไม่มีทีมงานรอบรู้ข้อมูล ก็แล้วแต่จะคิด

*** เร่งอี-บิตดิ้ง เม.ย. 2563

ร้อนถึง 'ฐากร' ต้องเร่งชี้แจงว่าไม่ได้เป็นอย่างที่ทีโอทีรายงานต่อรมว.ดีอีเอส แต่อย่างใด เพราะกสทช.ไม่สามารถยกเลิกคำสั่ง 'ยกเลิกสัญญา' ได้ แต่สิ่งที่ กสทช.ให้เวลาถึงสิ้นปีนั้น คือ พื้นที่ที่ต้องสรุปร่วมกันแล้วเห็นว่าเหลืองานอีกเพียง 20% ก็จะแล้วเสร็จ และไม่ผิดเงื่อนไขสัญญา ก็ให้ดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จเพื่อส่งมอบภายในสิ้นปีนี้

ส่วนพื้นที่ไหนที่ทำไม่ได้ ต้องได้ข้อสรุปภายในกลางเดือน พ.ย. 2562 เพื่อเปิดให้เอกชนรายใหม่เข้ามาประเมินพื้นที่ในการเข้าร่วมประมูลโครงการเพื่อสร้างความรวดเร็วในการประมูล คาดว่าจะเปิดให้ประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-บิตดิ้ง ได้ภายในเดือน เม.ย. 2563

หนึ่งในหลายร้อยอาคาร USO Net ที่สร้างไม่เสร็จ
สำหรับโครงการที่เอกชนรายอื่นทำเสร็จเรียบร้อยตามสัญญา จะเปิดให้บริการพร้อมกันภายในสิ้นเดือน พ.ย.นี้ โดยไม่สามารถรอโครงการที่ทีโอทีล่าช้าได้ เนื่องจากเอกชนรายอื่นไม่มีความผิด และจำเป็นต้องส่งมอบงานเพื่อรับเงินค่าทำโครงการตามสัญญาต่อไป แต่สิ่งที่กระทบคือ การให้บริการโมบายล์ในบางพื้นที่ของเอกชนที่ทำถูกต้องตามสัญญานั้น ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เพราะต้องใช้สัญญาณไฟเบอร์จากทีโอทีที่ผิดสเปก

เรื่องนี้ ทำให้ เลขาธิการ กสทช.ต้องแก้ปัญหา ด้วยการให้ทีโอที เปิดสัญญาณตามปกติ และใช้สัญญาณในการเชื่อมต่อ แต่จะไม่ตรวจรับงานไฟเบอร์ที่ผิดสเปกเด็ดขาด ไม่เช่นนั้น จะทำให้ทุกคนได้รับผลกระทบกันไปหมด จากความผิดพลาดของทีโอทีรายเดียว

***7 หมื่นครัวเรือนรายได้น้อยรับกรรม

ความล้มเหลว ผิดพลาดของทีโอที ที่ต้นสังกัดอย่างกระทรวงดีอีเอส เพิกเฉยทำให้ชาวบ้านสวัสดิการรัฐ หรือ ผู้มีรายได้น้อย กว่า 70,000 ครัวเรือน ที่ลงทะเบียนขอใช้เน็ตเข้าบ้านครัวเรือนละ 200 บาท ต่อเดือน ต้องรอใช้งานพร้อมกันทั้งประเทศ ไม่เช่นนั้นการให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปีนั้น จะเริ่มนับหนึ่งไม่พร้อมกันและสร้างความสับสนในการบริหารจัดการ

'หากนับเป็นครัวเรือน คือ 70,000 ครัวเรือน แต่หากนับว่า 1 ครัวเรือนมีกี่คน คงนับกันไม่ไหว น่าจะเกินหลักแสนคน' ฐากร กล่าว


แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงานที่ผิดพลาดของทีโอที ครั้งนี้ นอกจากแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นมืออาชีพแล้ว ยังถูกจับโยงไปเรื่องของการเมืองได้อีกด้วย เพราะนอกจากนโยบายรัฐที่ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต ครัวเรือนละ 200 บาทต่อเดือนจะได้รับผลกระทบแล้ว พื้นที่ที่ ทีโอที ไม่สามารถดำเนินการได้ยังเป็นพื้นที่ของพรรคฝ่ายค้านและของพรรคพลังประชารัฐเองด้วย

เพราะสัญญาที่ทีโอทีถูกยกเลิก ได้แก่ 1.โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ภาคเหนือ 2 มูลค่า 2,103.80 ล้านบาท ประกอบด้วยจังหวัดกำแพงเพชร , ตาก , นครสวรรค์ , พิจิตร , พิษณุโลก , เพชรบูรณ์ , สุโขทัย ,อุตรดิตถ์ และ อุทัยธานี

2.โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่า 2,492.59 ล้านบาท ประกอบด้วยจังหวัดกาฬสิน,ขอนแก่น, ชัยภูมิ ,นครพนม ,นครราชสีมา ,บุรีรัมย์, มุกดาหาร , ยโสธร ,ร้อยเอ็ด , เลย , สกลนคร , สุรินทร์ , หนองบัวลำภู , อุดรธานี และ อุบลราชธานี


หาก รมว.ดีอีเอส จะอ้างว่า โครงการนี้เกิดขึ้นในสมัยอดีตรมว.คนเก่า ก็อาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะขณะที่ทุกฝ่ายตื่นตัวกับ 5G ถึงกับปั้นวาทะกรรมลื่นหูอย่างจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่โครงการที่จะกระจายความเจริญ การรู้เท่าทันข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่หวังจะลดช่องว่างดิจิทัล ที่ล่าช้าเป็นปี กลับไม่มีคนสนใจ ทั้งๆที่มีข้อมูล ข้อเท็จจริงจำนวนมากพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าใครผิดใครถูก หรือคนในพื้นที่ห่างไกลเหล่านั้นไม่ใช่ฐานเสียงตัวเอง แต่เป็นของฝ่ายตรงข้าม เลยไม่จำเป็นต้องใส่ใจ

ขนาดเรื่องง่ายที่สุด แค่ส่งมอบงานที่ถูกต้อง ก็ยังไม่ส่งมอบ ยื้อเวลาไปเรื่อยๆ มีความเข้าใจว่าเหตุที่ทีโอทีพยายามยื้อเวลาออกไปให้นานที่สุด เพราะหากทีโอทีส่งมอบงานเพื่อรับค่าจ้างจากกสทช. ค่าปรับก็ต้องถูกคิดหักคืนจากค่าจ้าง เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้กระบวน การตรวจสอบเกิดขึ้นทันที เพราะถือว่ารัฐเสียหายแล้วไล่ตั้งแต่รมว.ดีอีเอส ต้องสั่งประธานบอร์ดทีโอทีให้ตั้งกรรมการสอบหาคนทำผิด ป.ป.ช. สตง. ต้องรับลูกเข้าตรวจสอบหาคนทุจริต ประพฤติมิชอบ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ผู้บริหารทีโอทีกังวลมาก

'หากโครงการเน็ตชายขอบไม่สามารถหาคนกระทำผิดได้สักคน แปลว่าพวกที่รณรงค์ต่อต้านการทุจริต พวกที่บอกโตไปไม่โกง พวกที่ถ่ายรูปไขว้แขวนเป็นกากบาท พวกคณะกรรมการคุณธรรมชุดต่างๆ ควรเลิกให้หมด เพราะขนาดมีหลักฐานโจ่งแจ้งขนาดนี้ ยังทำอะไรไม่ได้ ก็จบแล้วเรื่องการต่อต้านการทุจริต คอรัปชั่น ในประเทศนี้'





รกร้าง สร้างไม่เสร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น