xs
xsm
sm
md
lg

“ซีพี” เซ็นไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ฝ่าด่านหิน! ลุยกู้ซาก “แอร์พอร์ตลิงก์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


จรดปากกาเซ็นสัญญาไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 กับอภิมหาโปรเจกต์ที่ว่ากันว่ามีมูลค่าสูงที่สุดของรัฐบาลไทย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) หรือ “Eastern High-Speed Rail Linking Three Airports Co.,Ltd.”

ทั้งนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ได้แก่ China Railway Construction Corporation Limited จากสาธารณรัฐประชาชนจีน, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บมจ. ช.การช่าง ร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนลงนามในสัญญาร่วมลงทุน Public-Private-Partnership หรือ PPP

ย้อนไทม์ไลน์ เจรจาต่อรอง...สุดมาราธอน

นอกจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะเป็นบิ๊กโปรเจกต์ของรัฐบาลแล้วยังเป็นโครงการที่มีการเจรจาต่อรองกันอย่างมาราธอน นับจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เปิดประมูลเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 มีเอกชนซื้อซองไปถึง 31 รายโดยให้ยื่นซองประมูล วันที่ 12 พ.ย. 2561 หลังจากซื้อซองประมาณ 5 เดือน

โดยมี 2 กลุ่มเอกชนที่ยื่นข้อเสนอ คือ กลุ่ม กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) โดยมีบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) เป็นแกนนำ, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย), บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) และกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร มีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย) เป็นแกนนำ, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ระดับเจ้าสัวปะทะกัน แบบ “ช้างชนช้าง... ชิงดำโปรเจกต์ระดับชาติ” สัญญาสัมปทาน 50 ปี ว่ากันว่าไม่มีใครยอมใครแน่ เรื่องคุณสมบัติ ประสบการณ์ หายห่วง งานนี้วัดกันที่ใครใจถึงกว่ากันเท่านั้น


24 ธ.ค. 2561 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ร.ฟ.ท.ใช้เวลาประชุมนานกว่า 9 ชั่วโมง กว่าจะสรุปว่ากลุ่มซีพีและพันธมิตร ในนาม CPH ยื่นเสนอขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐต่ำสุด คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 117,227 ล้านบาท ในช่วงเวลา 10 ปี จากกรอบงเงินการร่วมลงทุนของรัฐกับเอกชนไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท และได้รับสิทธิ์ในการเจรจาต่อรองแต่ ยังไม่ถือว่าซีพีชนะประมูล เพราะหากการเจรจาต่อรองทั้ง 2 ฝ่าย คือ ระหว่าง ร.ฟ.ท.และซีพี ไม่สามารถตกลงกันได้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะเรียกกลุ่ม BSR มาเจรจาแทนได้ทุกเมื่อ

24 ต.ค. 2562 ได้เซ็นสัญญาเจรจามาราธอน ครบ 10 เดือนพอดิบพอดี

หลังจากนี้ เข้าสู่โหมดการบริหารสัญญา โดยช่วงเวลา 5 ปีแรกเป็นการก่อสร้าง ซึ่งปัญหาใหญ่ที่ทำให้การเจรจายืดเยื้อ เป็นเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่ชัดเจน ตลอดโครงการจะใช้พื้นที่กว่า 4,300 ไร่ เป็นพื้นที่รถไฟ จำนวน 3,571 ไร่ พื้นที่เวนคืน 850 ไร่ (มีจำนวน 42 แปลง) และมีสิ่งปลูกสร้าง 245 หลัง ใช้วงเงิน 3,570 ล้านบาท

อยู่ระหว่างออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

ส่วนพื้นที่ของ ร.ฟ.ท.จำนวน 3,571 ไร่นั้น พร้อมส่งมอบในช่วงแรกจำนวน 3,151 ไร่ (80%) ส่วนที่เหลือแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. พื้นที่ถูกบุกรุกจำนวน 210 ไร่ จะเคลียร์ภายใน 2 ปี 2. พื้นที่ติดสัญญาเช่า จำนวน 210 ไร่ จำนวน 83 สัญญา ดำเนินการภายใน 1 ปี ส่วนที่ดินมักกะสันทั้งหมดจำนวน 142.26 ไร่ ส่งมอบช่วงแรก 132.95 ไร่ ส่วนที่เหลือประมาณ 9.31 ไร่ เนื่องจากเป็นพื้นที่พวงราง ซึ่งทางซีพีต้องดำเนินการย้ายพวงรางออกไปก่อน จึงจะเข้าใช้ประโยชน์ได้ ส่วนสถานีศรีราช จำนวน 27.45 ไร่ โดยซีพีจะต้องก่อสร้างแฟลตบ้านพักรถไฟทดแทนให้ก่อนจึงจะเข้าพื้นที่ได้ ฟากซีพีต้องการแผนที่ชัดเจนว่าจะส่งมอบพื้นที่แต่งละจุดได้วันเวลาใด เพื่อความมั่นใจในการลงทุน

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รับทราบแผนเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ และสรุปออกเป็น 3 ระยะ

1. สถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 28 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่แอร์พอร์ตเรลลิงก์เดิม โดย ร.ฟ.ท.สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ทันทีหลังจากที่มีการลงนาม

2. สถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร เร่งรัดส่งมอบพื้นที่ภายใน 1 ปี 3 เดือน แต่สามารถขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ปีหลังลงนามในสัญญา

3.สถานีพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 22 กิโลเมตร เร่งรัดส่งมอบพื้นที่ภายใน 2 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 4 ปีหลังลงนาม

ทั้งนี้ หากการดำเนินการเป็นไปตามแผนที่วางไว้ รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เฉพาะสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จะสามารถเปิดให้บริการได้เร็วที่สุดช่วงปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567 ส่วนสถานีพญาไท-ดอนเมือง ที่มีการรื้อย้ายปรับปรุงสาธารณูปโภคจำนวนมาก คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปี ‪2567-2568

ซีพีทุ่มสุดตัว ขอทำงานด้วยความยืดหยุ่น

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ในสัญญาและแนบท้ายได้กำหนดขั้นตอนกรอบเวลาในการดำเนินงานไว้ เราต้องการเริ่มก่อสร้างภายใน 12 เดือนหรืออย่างช้าไม่เกิน 24 เดือน

ส่วนที่ทำได้เร็วที่สุด คือ 1. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (พญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ) ซึ่งจะทำแผนการรับโอนและการปรับปรุงเพื่อรองรับระบบรถไฟความเร็วสูง 2. ส่วนที่ยากที่สุด คือ การก่อสร้างแอร์พอร์ตเรลลิงก์ต่อขยาย ช่วงพญาไท-ดอนเมือง และ 3. ส่วนที่ต้องตกลงในเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างที่มีระยะทางยาวที่สุด ช่วง สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา“

เป็นความท้าทายอย่างมากหากจะให้ทั้ง 3 ส่วน ก่อสร้างเสร็จภายใน 5 ปี

“ศุภชัย” ยอมรับว่า ภาคเอกชนกังวลที่สุด คือ เรื่องความเสี่ยง เพราะต้องลงทุน ซึ่งโครงการนี้วงเงินที่เอกชนต้องรับผิดชอบเกือบแสนล้านบาท ซึ่งกลุ่มคอนซอร์เตียมหลายรายจะต้องกู้เงินมาด้วย ถ้าดำเนินการแล้วขาดทุน ทุกๆ ปีที่ขาดทุนจะต้องระดมเงินเข้าไป ดังนั้น เรื่องนี้เราได้ศึกษาอย่างละเอียดและมีความเชื่อมั่นว่าทำให้สำเร็จได้ ขณะที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีความเข้มงวดมาก การเจรจาเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เพราะเป็นโครงการแรกที่ PPP ที่มีไซด์ใหญ่กว่าที่เคยมีมาหลายเท่า มีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาหลายประเทศ จึงหวังว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องที่โครงการในอีอีซีอื่นๆ รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางอื่น นำไปใช้และประสบความสำเร็จได้ แต่จะไปถึงจุดนั้นได้ การปฏิบัติจริงต้องการความยืดหยุ่น ระหว่างภาครัฐและเอกชนมากทีเดียวเพื่อให้เป็นโครงการตัวอย่างที่นำเอา ปัญหา อุปสรรค รวมถึงสิ่งที่ทำให้สำเร็จไปใช้กับโครงการต่อๆ ไป

เปิดเดินรถบางส่วน เจรจารัฐจ่ายเงินอุดหนุนได้


“คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระบุว่า รัฐต้องดำเนินการในการส่งมอบพื้นที่เพื่อก่อสร้างให้เป็นไปตามแผน ส่วนเงินที่รัฐต้องจ่ายเงินค่าร่วมลงทุนจำนวน 117,227 ล้านบาท ให้แก่ซีพีภายในระยะเวลา 10 ปีนั้นจะเริ่มจ่ายเมื่อก่อสร้างเสร็จ ซึ่งเมื่อแบ่งงานออกเป็น 3 ท่อน เช่น หากการก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เสร็จตรวจสอบและเปิดให้บริการ รัฐจะจ่ายให้ก่อน ไม่ได้หมายความว่าต้องรอให้เสร็จทั้ง 3 ส่วนก่อนค่อยจ่าย เป็นระบบปกติที่ทำ

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. ยืนยันว่าหลักการ ตามสัญญา กรณีเหตุการณ์ปกติเมื่อก่อสร้างเสร็จภายใน 5 ปี รัฐจะจ่ายส่วนที่ต้องร่วมลงทุน ตั้งแต่ปีที่ 6-ปีที่ 15 แต่หากมีเหตุการณ์ที่จำเป็น สัญญาแนบท้ายจะเขียนไว้ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ทั้งนี้จะต้องรายงานคณะกรรมการกำกับฯ และบอร์ดอีอีซี รวมถึงต้องได้รับการอนุมัติ จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หมายความว่าหากมีการก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาเสร็จ เปิดให้บริการก่อน แต่ช่วงพญาไท-ดอนเมืองยังไม่เสร็จ กรณีมีการเสนอขอให้รัฐจ่ายเงินจะต้องเจรจา ต้องประเมินและต้องคำนวณกันว่าจะจ่ายกันเท่าไหร่ จ่ายกันอย่างไร จ่ายเนื่องจากเหตุผลอะไรยืนยันว่าไม่มีการจ่ายกันง่ายๆ แบบอัตโนมัติแน่นอน

จ่าย 1.06 หมื่นล้าน รับซากรถแอร์พอร์ตลิงก์

“วรวุฒิ” ระบุว่า ตอนนี้เร่งให้ซีพีส่งแผนการรับโอนโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-มักกะสัน-ดอนเมือง โดยตามเงื่อนไขซีพีจะต้องรับมอบโครงการหลังลงนามสัญญาภายใน 2 ปี พร้อมกับชำระเงินค่าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671,090,000 บาทให้ครบ ซึ่งซีพีจะต้องส่งแผนทำดิวดิลิเจนซ์ (due diligence) มาภายใน 3 เดือน

เงื่อนไขสำคัญ คือ “แอร์พอร์ตลิงก์ ต้องไม่หยุดวิ่ง”

ขณะที่เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันแอร์พอร์ตลิงก์มีผู้โดยสารหนาแน่น บางวันเกือบ 9 หมื่นคนแล้ว และคาดว่าอีกไม่นานอาจจะทะลุ 1 แสนคนได้ ทำให้มีรายได้เฉลี่ยเกือบ 3 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณเดือนละ 90 ล้านบาท ซึ่ง จะเป็นรายได้ของซีพีทันทีที่รับโอน

แต่ก่อนที่ซีพีจะควักเงินกว่าหมื่นล้านบาทเพื่อจ่ายตามเงื่อนไข คงต้องมีการตรวจสอบแอร์พอร์ตลิงก์กันทุกซอกทุกมุม โดยเฉพาะระบบและขบวนรถที่เป็นเครื่องมือหลักในการทำมาหากิน เพราะผ่านมาแอร์พอร์ตลิงก์มีชื่อด้านบริการห่วยๆ ผู้ใช้บริการอ่อนใจ เพราะต้องลุ้นกันว่าวันนี้จะมีรถวิ่งกี่ขบวน เพราะว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาต้องเจอกับปัญหาบริการเช้าเสีย...เย็นพัง บางวันก็จอดตายกลางทาง ซีพีคงปวดหัวไม่น้อยกับอาการรถพัง รถเสีย ระบบเจ๊ง และครหาการทุจริต จัดซื้อจัดหาอะไหล่และการซ่อมบำรุง

หากจะเดาใจ เอกชนในช่วงแรก ซีพีคงไม่อยากลงทุนเพิ่มกับแอร์พอร์ตลิงก์มากนัก ดังนั้น จึงต้องการใช้รถที่มีอยู่ 9 ขบวนอย่างเต็มประสิทธิภาพและคุ้มค่า และต้องตรวจเช็กสภาพระบบรถไฟฟ้า (Rolling Stock) อย่างละเอียด ที่สำคัญหวังว่าเมื่อเช็กบัญชีสต๊อกอะไหล่แล้วจะเจอของจริง ไม่เป็นสต๊อกลม! ก็แล้วกัน...

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วันนี้โครงการได้เริ่มต้นนับหนึ่งแล้ว โดยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ต้องดูกันต่อไปว่าซีพีจะก้าวผ่านบันไดขั้นแรกไปได้ตามเป้าหรือไม่...




กำลังโหลดความคิดเห็น