xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ผลิตเอทานอลลุ้น “สนธิรัตน์” ยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทยหนุนแนวนโยบาย สนธิรัตน์” ที่เตรียมจะปรับลดชนิดน้ำมันกลุ่มเบนซินลง ดันยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ตามนโยบายที่วางไว้นานแต่ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อเร่งขยับการใช้อี 20 และอี 85 ส่งเสริมการใช้เอทานอลน้ำมันบนดินช่วยเกษตรกร ป้องฝุ่นละออง

นายเจษฎา ว่องวัฒนะสิน อุปนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย หรือ TEMA เปิดเผยว่า สมาคมฯ พร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มีเป้าหมายลดชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงลง ซึ่งจะสรุปภายในเดือน พ.ย.นี้ โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มน้ำมันเบนซินเนื่องจากมีจำนวนมากเกินไป ซึ่งเห็นว่าควรยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 เพื่อผลักดันการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 20 และอี 85 เพื่อสนับสนุนการใช้เอทานอลให้มากขึ้น ซึ่งไม่เพียงจะช่วยยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกมันสำปะหลังและอ้อยเท่านั้น ยังช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ได้อีกด้วย

“แก๊สโซฮอล์คือน้ำมันเบนซินที่ผสมกับเอทานอล เช่นกรณีอี 20 คือเบนซินผสมเอทานอล 20% ซึ่งยิ่งผสมมากก็จะเป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น ขณะเดียวกันเอทานอลที่ผลิตได้ในประเทศล้วนมาจากโมลาส (กากน้ำตาล) และมันสำปะหลัง ซึ่งจะย้อนกลับมายังรายได้ของเกษตรกรไม่ให้ตกต่ำ ที่ผ่านมานโยบายรัฐมีแผนจะยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่แล้วแต่ยังไม่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ซึ่งเราเห็นด้วยอย่างมากที่จะยกเลิกเพื่อให้เหลือหัวจ่ายเพียงแก๊สโซฮอล์ 95 อี 20 และอี 85 ซึ่งปริมาณเอทานอลขณะนี้มีเพียงพอ” นายเจษฎากล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวลคือทางด้านกฎหมายและแผนปฏิบัติที่จะมีส่วนขับเคลื่อน ดูเหมือนจะสวนทางกับแนวทางการเพิ่มการใช้เอทานอลทั้งในแง่ของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้การอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งก็คือ เอทานอล และน้ำมันปาล์มบริสุทธ์ (บี 100) ได้อีกเพียง 3 ปี และต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี รวมๆ แล้ว 7 ปี จากนั้นก็เลิกอุดหนุน ขณะที่แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) ที่กำลังปรับปรุงได้ลดเป้าหมายส่งเสริมเอทานอลจากเดิมตลอดแผนที่ 11.30 ล้านลิตรต่อวัน แผนใหม่จะเหลือ 6.6 ล้านลิตรต่อวัน จึงต้องการให้ภาครัฐได้พิจารณาแนวทางให้ชัดเจน

“น้ำมันบนดิน ทั้งไบโอดีเซลและเอทานอลล้วนมาจากพืชเกษตรเป็นวัตถุดิบกว่า 70-80% ต้นทุนจึงสัมพันธ์กับราคาพืชเกษตรเหล่านี้หากทำให้ต่ำราคาพืชก็จะต่ำไปด้วย จึงต้องมองภาพรวมหากไม่อุดหนุนจะมีการยกระดับราคาอย่างไรที่เป็นประโยชน์ในแง่ของราคาน้ำมันและราคาพืชเกษตร ซึ่งหาก พ.ร.บ.กองทุนฯ อุดหนุนไม่ได้อาจมองในเรื่องของโครงสร้างภาษีสรรพสามิตแทนหรือไม่เพราะหลายประเทศก็ทำกัน” นายเจษฎากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น