xs
xsm
sm
md
lg

“สิงห์” ฮุบ “ซานตาเฟ่สเต๊ก” ตีตั๋วรถไฟ 1.5 พันล้านสู่ตลาดสเต๊ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ผู้จัดการรายวัน 360 - กลุ่มสิงห์เดินหน้ารุกครั้งใหญ่ ทุ่มงบกว่า 1.5 พันล้านบาทเข้าซื้อหุ้นของกิจการซานตาเฟ่สเต๊ก ขยายพอร์ตโฟลิโออาหาร

แหล่งข่าวจากกลุ่มสิงห์คอร์ปอเรชั่นยืนยันว่า ทางกลุ่มสิงห์ได้เข้าซื้อหุ้นจำนวนหนึ่งในร้านซานตาเฟ่สเต๊ก ของบริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด และคาดว่าจะมีการเปิดแถลงข่าวรายละเอียดในเร็วๆ นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มสิงห์คอร์ปอเรชั่น ของตระกูลภิรมย์ภักดี สยายปีกสุ่ธุรกิจอาหารครั้งใหญ่อีกครั้ง หลังจากที่ได้ตั้ง บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ขึ้นมา พร้อมกับเงินทุนกว่า 5,000 ล้านบาทที่เตรียมไว้ในการลงทุนธุรกิจ

ล่าสุดคือการเข้าซื้อหุ้นในบริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด ผู้บริหารร้านซานตาเฟ่สเต๊กชื่อดังของไทยที่ก่อตั้งโดย นายสุรชัย ชาญอนุเดช

ทั้งนี้ ตามรายงานข่าวระบุว่า กลุ่มสิงห์ได้ซื้อหุ้นจาก เลคชอร์ แคปปิตอล ซึ่งเป็นกองทุน Private Equity ซึ่งกองทุนดังกล่าวนี้ได้เข้ามาลงทุนในซานตาเฟ่สเต๊กก่อนเมื่อประมาณปี 2558 จำนวน 26% โดยที่นายสุรชัย ยังคงถือหุ้นใหญ่อยู่

การที่สิงห์ซื้อหุ้นครั้งนี้ต้องใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท หรือประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

ซานตาเฟ่สเต๊กถือเป็นแบรนด์สเต๊กของไทยที่มีการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง และยังเป็นผู้นำในตลาดสเต๊กที่มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งในตลาดมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นเชนไม่กี่ราย เช่น ซานตาเฟ่เสต๊ก เจฟเฟอร์สเต๊ก หรือแองกรี้เนิร์ด และซิซซ์เล่อร์ ซึ่งซิซซ์เล่อร์จะเป็นคู่แข่งทางอ้อมมากกว่า นอกนั้นก็มีสเต๊กทั่วไป เช่น สเต๊กลุงหนวด และที่เปิดอยู่ในโรงแรม

นอกจากมีสาขาในไทยกว่า 110 สาขาแล้ว ยังมีเปิดบริการในต่างประเทศด้วย และสเต๊กก็เป็นธุรกิจอาหารที่มีแนวโน้มในการเติบโตที่ดี โดยซานตาเฟ่สเต๊กทำรายได้เฉลี่ยในระดับ 1,700-1,900 ล้านบาทต่อปี

สอดคล้องกับทิศทางของกลุ่มสิงห์ที่ต้องการรุกธุรกิจอาหารมากขึ้น ในนามบริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ที่เป็นอาวุธสำคัญ โดยการบริหารของ ปิติ ภิรมย์ภักดี เมื่อปีที่แล้ว ด้วยเป้าหมายรายได้จากธุรกิจอาหารที่มากถึง 15,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี


ก่อนหน้านี้ก็มีการขยายธุรกิจอาหารมากขึ้นตามลำดับ เช่น ร้าน Est.33, Farm Design, Kitaochi เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารญี่ปุ่นอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น