xs
xsm
sm
md
lg

ทุนจีนเปย์ยับเฉียด $2,000 ล. ถูกใจสตาร์ทอัพเอเชียอาคเนย์

เผยแพร่:

อาลีบาบา หนึ่งในยักษ์ใหญ่ไฮเทคจีนที่หลงเสน่ห์สตาร์ทอัพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้






จีนอัดฉีดเงินทุน 1,780 ล้านดอลลาร์ให้สตาร์ทอัพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น 8 เท่าจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา งานนี้ยูนิคอร์นรับทรัพย์อื้อซ่า

ตัวเลขดังกล่าวมาจากรายงานของ บริษัทฟินเทค รีฟินิทีฟ ที่บ่งชี้ว่า วงการเทคโนโลยีแดนมังกรที่เริ่มอิ่มตัว บวกกับโอกาสที่เศรษฐกิจมือถือของเอเชียอาคเนย์มอบให้ คือสองปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนทิศทางการไหลออกของเม็ดเงินจากแผ่นดินใหญ่
ผู้ที่ได้อานิสงส์จากสถานการณ์นี้คือเหล่ายูนิคอร์น หรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป เดือนพฤษภาคม YY เว็บไซต์เครือข่ายสังคมจีน ทุ่ม 1,450 ล้านดอลลาร์ เข้าซื้อบิโก แพล็ตฟอร์มไลฟ์สตรีมสิงคโปร์ ถัดมาอีกเดือน โกบิ พาร์ตเนอร์ส ร่วมกับเทเลพอร์ต ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ของแอร์เอเชีย ลงทุน 10.6 ล้านดอลลาร์ในอีซี่พาร์เซลของมาเลเซีย
จีนสนใจสตาร์ทอัพในเอเชียอาคเนย์มานานแล้ว เมื่อไม่กี่ปีมานี้ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ อาลีบาบา เข้าซื้อหุ้นที่มีสิทธิ์ควบคุมในลาซาดา กรุ๊ป บริษัทอี-คอมเมิร์ซชื่อดังในภูมิภาค และเทนเซ็นต์ คู่แข่งของอาลีบาบา ลงทุนใน Sea ของสิงคโปร์ ขณะที่เจดีดอทคอมเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่อัดฉีดให้แบรนด์แฟชั่นไทย โพเมโล

บริษัทอี-คอมเมิร์ซอินโดนีเซีย เป็นเป้าหมายของยักษ์ใหญ่ไฮเทคจีนเช่นเดียวกัน เดือนธันวาคมปีที่แล้ว โทโคพีเดียได้รับเงินอัดฉีด 1,100 ล้านดอลลาร์จากอาลีบาบาและซอฟต์แบงก์ของญี่ปุ่น ส่วนบูคาลาปักได้แอนต์ ไฟแนนเชียลของอาลีบาบา เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนสำคัญ

โบ เว่ยฟอง ศาสตราจารย์จากนันยาง บิสเนส สกูลของสิงคโปร์ ชี้ว่า ตลาดเทคโนโลยีที่อิ่มตัวในแดนมังกรผลักดันให้บริษัทร่วมลงทุนของจีนต้องมองหาแหล่งลงทุนใหม่ๆ และมาถูกใจตลาดเอเชียอาคเนย์เพราะมีหลายอย่างพ้องกับตลาดจีน เช่น คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูเหมือน “สะดวกใจ” กับเทคโนโลยีมือถือ เช่น การช้อปปิ้งออนไลน์ ขณะที่จีนประสบความสำเร็จอย่างมากก็เพราะเศรษฐกิจมือถือเช่นเดียวกัน

รายงานที่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ของเทมาเส็ก บริษัทการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์, กูเกิล ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตของอเมริกา และบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก เบน แอนด์ คอมปานี พบว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเอเชียพุ่งทะยานราวกระสวยอวกาศ ปัจจุบันประชากรในภูมิภาคนี้ถึง 90% ช้อปออนไลน์จากมือถือ เทียบกับทศวรรษที่แล้วที่ประชากรเกือบ 4 ใน 5 ไม่มีหรือมีช่องทางเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่างจำกัดเท่านั้น

เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของเอเชียอาคเนย์ยังถูกคาดหมายว่า จะได้แรงส่งจากความนิยมในสมาร์ทโฟน การช้อปออนไลน์ และความไว้ใจในบริการผ่านระบบดิจิตอล ทำให้เติบโตมีมูลค่าถึง 300,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2025 จากที่คาดไว้ 100,000 ล้านดอลลาร์สำหรับปีนี้ และขนาดตลาดที่ใหญ่โตมโหระทึกคือหนึ่งในเสน่ห์ดึงดูดของภูมิภาคนี้

จั๊ว จู ฮ็อก
หุ้นส่วนผู้จัดการของเวอร์เท็กซ์ เวนเจอร์ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย บอกว่า นักลงทุนจีนมองเอเชียอาคเนย์เป็นโอกาสใหม่ จากอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและปัจจัยแง่บวกหลายอย่าง อาทิ ประชากรวัยหนุ่มสาว ระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้น การใช้โซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย ขณะที่บริษัทร่วมลงทุนของจีนคาดหวังนำประสบการณ์และโมเดลที่เคยใช้ได้ผลในบ้านเกิดมาประยุกต์ใช้กับสตาร์ทอัพของภูมิภาคนี้

เค-ม็อก คู
หุ้นส่วนผู้จัดการโกบิ เซาธ์อีสต์ เอเชีย มองว่า นักลงทุนจีนกระหายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดทั่วโลก ตัวอย่างเช่น อาลีบาบาและเทนเซ็นต์ที่ต่างไม่พอใจเพียงแค่ตำแหน่งผู้นำในประเทศและเดินหน้าขยายตัวในต่างแดนไม่หยุดหย่อน

คู เสริมว่า นักลงทุนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ บริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่ที่มีบริษัทร่วมลงทุนในเครือ, บริษัทร่วมลงทุนที่มีหุ้นส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอดีตพนักงานของยักษ์ใหญ่ไฮเทคที่ออกมาเปิดบริษัทร่วมลงทุนของตัวเอง โดยสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนเหล่านี้มีเหมือนกันคือ การมองภาพรวมในบริบทที่กว้างขึ้น และการโยกย้ายเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ถือเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในขณะนี้

อย่างไรก็ดี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเป็นเพียงจุดแวะแรก และอีกไม่นานนักลงทุนจีนจะเคลื่อนย้ายไปยังตะวันออกกลางและแอฟริกาต่อ

เจมส์ ตัน กรรมการผู้จัดการเควสต์ เวนเจอร์ส บอกว่า นักลงทุนบางรายมองว่า การเข้าลงทุนในสตาร์ทอัพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นการบรรเทาความเสี่ยงรูปแบบหนึ่ง

จั๊ว จากเวอร์เท็กซ์สำทับว่า เม็ดเงินของจีนไหลไปยังธุรกิจต่างๆ เช่น อี-คอมเมิร์ซ ไรด์เฮลลิ่ง และการกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคล ซึ่งล้วนอิ่มตัวแล้วในจีน

ทางด้านคู เห็นว่า นักลงทุนจีนถูกดึงดูดเข้าหาสตาร์ทอัพที่มีโมเดลธุรกิจเหมือนกันกับบริษัทจีนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด เขาสำทับว่า นักลงทุนจีนสนใจตลาดผู้บริโภค ซึ่งรวมถึงโลจิสติกส์และฟินเทค ขณะที่บริษัทอเมริกันโฟกัสด้านเทคโนโลยีระดับสูงที่มีความซับซ้อนและต้องการการค้นคว้าวิจัยยาวนานมากกว่า และความแตกต่างนี้หมายความว่า นักลงทุนสองชาติไม่ได้เป็นคู่แข่งกันโดยตรง

แต่สำหรับจัสติน ฮอลล์ หุ้นส่วนของโกลเด้น เกต เวนเจอร์ส กลับรู้สึกว่า บริษัทอเมริกันกำลังพลาดโอกาสสำคัญ ซึ่งถ้ายังไม่คิดอ่านขยับขยายเข้าลงทุนในสตาร์ทอัพเอเชียอาคเนย์อย่างจริงจังภายใน 5 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มว่า บริษัทอเมริกันจะเสียตลาดนี้ให้ผู้เล่นจีนอย่างแน่นอน

โฆษกแกร็บ บริษัทเทคโนโลยีสิงคโปร์ที่อยู่เบื้องหลังบริการไรด์เฮลลิ่งและฟูดเดลิเวอรี บอกว่า ภูมิศาสตร์มีเสน่ห์ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกน้อยกว่าค่านิยมร่วมและความเหมาะสมเชิงกลยุทธ์ สำหรับแกร็บนั้นเลือกเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่สามารถเติมเต็มหรือส่งเสริมข้อเสนอที่มอบให้ลูกค้า โดยเมื่อเร็วๆ นี้แกร็บเพิ่งเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับซงอัน อินเตอร์เนชันแนล และร่วมทุนกับผิงอัน กู๊ด ด็อกเตอร์ แพล็ตฟอร์มสุขภาพออนไลน์ชั้นนำของจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น