xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์หั่นเป้าจีดีพีไทยโตแค่ 2.7% ส่งออกวูบ ห่วงบาทแข็งซ้ำเติม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ธนาคารโลกปรับเป้าจีดีพีไทยปีนี้เหลือเติบโต 2.7% จาก 3.5% รับผล "ส่งออกวูบ-ภัยแล้ง-เบิกจ่ายงบฯ ต่ำ" ชี้ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามเป็นกรณีความไม่แน่นอนทางการเมือง บาทแข็งซ้ำเติมส่งออก

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2562 จะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.7 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 3.5 และร้อยละ 2.9 ในปี 2563 ทั้งนี้ การปรับประมาณการดังกล่าว เนื่องมาจากหลายปัจจัยที่สำคัญ ทั้งการส่งออกที่ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ และอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ต่ำและมีผลเหนี่ยวรั้งตัวเลขการลงทุนภาครัฐ โดยเวิลด์แบงก์ประมาณการการส่งออกและบริการไทยในปีนี้ลดลงร้อยละ 5.3 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในปีหน้า

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาในเดือนสิงหาคม 2562 มุ่งเป้าไปที่เกษตรกรผู้ประกอบการขนาดเล็ก-ขนาดกลาง และครัวเรือนที่มีรายได้น้อยโดยผ่านการโอนเงินให้โดยตรง ขณะที่การขยายระยะเวลาการชำระหนี้การคืนเงินภาษีจากกิจกรรมการท่องเที่ยว การขยายยกเว้นค่าวีซ่าสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่กำหนดนั้น มาตรการต่างๆ ที่ออกมานี้น่าจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2562 ส่วนในระยะปานกลาง ผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับกำลังของตัวทวีทางการคลัง

ส่วนนโยบายที่ไม่ใช่ด้านการคลังของรัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาเฉพาะด้านและในภาพรวม ทั้งนี้ มีความต่อเนื่องในการดำเนินงานตามนโยบายและโครงการหลักๆ เช่น ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก การขยายมาตรการที่มุ่งเป้าไปที่ภาค
เกษตร ตัวอย่างเช่น การประกันรายได้ การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรและการปรับระดับผลิตภาพการผลิตในภาคธุรกิจการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาโดยพื้นฐานแล้ว การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนน่าจะฟื้นตัวกลับมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังว่าการลงทุนภาครัฐจะเริ่มกลับมาเมื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เริ่มดำเนินการ การค้าและการลงทุนในภูมิภาคโดยเฉพาะในกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามก็จะสามารถช่วยลดภายนอกได้

ทางด้านปัจจัยเสี่ยงและประเด็นท้าทาย มองว่าสถานการณ์ความเสี่ยงมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่ไม่ค่อยดี เป็นประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดอันจะก่อให้เกิดความเคลือบแคลงใจอยู่ต่อไปถึงความเหนียวแน่นของรัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาลผสมมาจาก 19 พรรคการเมือง ความล่าช้าของการดำเนินงานตามแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภาครัฐ อาจส่งผลในทางลบต่อมุมมองของนักลงทุนและความมั่นใจของผู้บริโภค ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจทำให้อุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอลง แม้ว่าโครงการที่เกี่ยวข้องกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะมีความคืบหน้า แต่ก็ยังมีความเสี่ยงว่าอาจเกิดความล่าช้าในการดำเนินงาน

ขณะที่ความตึงเครียดทางการค้าที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน อาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยอ่อนแอลงไป
อีก และบั่นทอนการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ขณะค่าเงินบาทของไทยแข็งที่สุดในภูมิภาคในช่วงกลางปี
2562 เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาหาที่หลบภัยในตลาดพันธบัตรของไทย หากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นต่อไปอีกอาจจะเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทยทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า อัตราการเติบโตของจีดีพีไทยในระดับที่ประมาณการ 2.7% นั้นถือว่าต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมาจากหลายปัจจัยดังที่กล่าวแล้ว รวมถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยที่เร็วที่สุดในประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของคลังที่ออกมานั้นถือว่าทันเวลาในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอ และยังมีช่องว่างพอที่จะทำเพิ่มได้อีก แต่ควรกระตุ้นให้เม็ดเงินถึงมือของกลุ่มประชากรที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง

นอกจากนี้ เวิลด์แบงก์ ได้ออกรายงาน East Asia and Pacific Economic Update ฉบับเดือนตุลาคม 2562 ภายใต้ชื่อ Weathering Growing โดยนายแอนดรู เมสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกแลแปซิฟิก ชะลอการเติบโตลงจากเดิมที่ร้อยละ 6.3 ในปี 2561 เหลือเป็นร้อยละ 5.8 ในปี 2562 และร้อยละ 5.7 และ 5.6 ในปี 2563 และ 2564 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงการส่งออกและกิจกรรมด้านการผลิตที่ลดลงในวงกว้าง เป็นผลจากอุปสงค์อุปสงค์ของตลาดโลกที่อ่อนตัว รวมถึงอุปสงค์จากจีนที่ลดลง โดยคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปีนี้เติบโตร้อยละ 6.1 ลดลงจากประมาณการเดิมร้อยละ 0.1 และร้อยละ 5.9 ในปีหน้า ลดลงจากประมาณการเดิมร้อยละ 0.3

ขณะที่ความตึงเครียดของสงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนมากขึ้น รวมถึงความวุ่นวายในกรณี Brexit ส่งผลต่อการส่งออกและการลงทุน นับเป็นบททดสอบความยืดหยุ่นในการรับมือด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ และถือเป็นความเสี่ยงด้านลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะรุนแรงมากขึ้น แต่ความคาดหวังของบางประเทศที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าใหม่หรือการย้ายฐานการผลิตนั้น แต่จากความไม่ยืดหยุ่นของห่วงโซ่มูลค่าโลก ทำให้ประเทศในภูมิภาคไม่ได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวในระยะใกล้

นอกจากนี้ ระดับหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและกำลังเพิ่มขึ้นในบางประเทศของภูมิภาคนี้จะส่งผลให้การใช้นโยบายการคลังและการเงินเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากเศรษฐกิจโลกชะลอมีข้อจำกัดในการดำเนินการ ดังนั้น ประเทศต่างๆ จะต้องหาสมดุลระหว่างการเติบโตและการบริหารจัดการหนี้ ให้ความสำคัญต่อภาพรวมและความยั่งยืน และควรมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทั้งด้านกฎระเบียบด้านการค้า-การลงทุน และนวัตกรรม-เทคโนโลยี เพื่อดึงดูดการเข้ามาลงทุนในอนาคต รวมถึงประเทศในภูมิภาคนี้จะได้รับประโยชน์จากการเปิดการค้า และจากการรวมตัวด้านการค้าในภูมิภาคให้มากกว่าเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น