xs
xsm
sm
md
lg

Huawei เท 4 หมื่นล้านบาทปั้น HarmonyOS

เผยแพร่:

หัวเว่ยหวังให้ HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติการเจเนอเรชันถัดไปที่จะเปิดโลกใบใหม่
หัวเว่ย (Huawei) ประกาศงบพัฒนาอีโคซิสเต็มส์ระบบปฏิบัติการใหม่ “ฮาร์โมนีโอเอส” (HarmonyOS) เบา ๆ ช่วงแรก 4 หมื่นล้านบาท ระบุเงินทุน 80% ลุยวางรากฐานนอกประเทศจีน ชู 4 จุดเด่นเหนือกว่าทุกระบบปฏิบัติการที่โลกมี เล็งปีหน้าวางแผงสินค้าพันธ์ุใหม่ทั้งพีซี สมาร์ทวอตช์ และสายรัดข้อมือ ก่อนจะขยายไปลำโพงและหูฟังในปี 2021 รวมถึงแว่น VR ในปี 2022

นายหวาง ยี่โซว (อิงมาร์) ผู้อำนวยการ หัวเว่ย คอนซูเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวถึงแผนพัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่ HarmonyOS ว่ากำลังเร่งร่วมมือกับนักพัฒนาทั้งระบบเศรษฐกิจหรืออีโคซิสเต็มส์ เพื่อให้ HarmonyOS แจ้งเกิดได้เร็วที่สุด โดยระบุว่าอีโคซิสเต็มส์ใหม่จะไม่มีขอบเขตที่แน่นอน และจะไม่จำกัดเฉพาะบางอุปกรณ์ เนื่องจาก HarmonyOS จะเชื่อมต่อทุกอุปกรณ์แบบไร้รอยต่อ พร้อมกับย้ำว่าหัวเว่ยจะยังจะลงทุนต่อเนื่องในไทย เหมือนที่ตลอดเวลาที่ทำมา

“หัวเว่ยหวังให้ HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติการเจเนอเรชันถัดไปที่จะเปิดโลกใบใหม่ ซึ่งอุปกรณ์ใหม่เกิน 100 ชนิดจะเชื่อมถึงกัน ไม่ใช่เพียงแค่พีซีหรือแท็บเล็ต เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะชื่นชอบและจะใช้งาน”

การเปิดตัว HarmonyOS ของหัวเว่ยได้รับความสนใจจากชาวโลก เพราะวิกฤติสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน นโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯทำให้หัวเว่ยถูกจับตาว่าจะไม่มีโอกาสซื้อบริการหรือสินค้าจากบริษัทสัญชาติอเมริกันอีกต่อไป ทำให้หัวเว่ยต้องหาทางพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการของตัวเองขึ้นมาอย่างจริงจัง เพื่อเป็นทางหนีทีไล่หากสหรัฐฯประกาศยกเลิกช่วงผ่อนปรน จนทำให้สินค้าหัวเว่ยใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) และบริการอื่นของกูเกิล (Google) เฟซบุ๊ก (Facebook) หรือค่ายดังรายอื่นไม่ได้

อย่างไรก็ตาม นายเจมส์ ลู่ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ EMUI หัวเว่ย คอนซูเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ยืนยันว่านาทีนี้โลกกำลังต้องการระบบปฏิบัติการใหม่ขึ้นมาทดแทนระบบเก่า เนื่องจากแม้จะมีทั้งระบบปฏิบัติการยูนิกส์ ลินุกซ์ วินโดวส์ และแมคโอเอสในฝั่งคอมพิวเตอร์ หรือฝั่งโมบายที่ระบบปฏิบัติการใหญ่อย่าง iOS และ Android แต่โอเอสเหล่านี้ก็ยังต้องแบ่งย่อยออกเป็นสมาร์ทโฟนโอเอส แท็บเล็ตโอเอส และวอตช์โอเอส ทำให้เป็นความท้าทายที่โลกไม่สามารถยึดกับระบบปฏิบัติการใดระบบหนึ่งได้เพื่อรองรับอุปกรณ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น

“ในอนาคต เราอาจจะมีอุปกรณ์อื่นที่ฉลาดกว่าสมาร์ทโฟน Android เองนั้นใหญ่เกินไปสำหรับการนำมาใช้ในอุปกรณ์บางอย่าง โอเอสทางเลือกใหม่จะปลอดภัยกว่า และทำงานได้ราบลื่นกว่า“

สิ่งหัวเว่ยมองว่าต้องมีในระบบปฏิบัติการแห่งอนาคตคือการแชร์ความสามารถของทุกอุปกรณ์เข้าด้วยกัน แล้วทำให้แต่และอุปกรณ์ทำงานเหมือนอุปกรณ์พ่วงต่อของกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น แอปวิดีโอควรจะสามารถแสดงภาพบนหน้าจอทีวี แต่สามารถใช้ไมโครโฟนบนลำโพงอัจฉริยะ รวมถึงการเล่นเสียงบนอุปกรณ์อื่นที่ยืนหยุ่นกว่าปัจจุบันที่ต้องแสดงผลทุกอย่างบนอุปกรณ์เดียว แนวคิดนี้ทำให้ HarmonyOS ถูกพัฒนาบน 4 จุดเด่น คือโครงสร้างระบบที่การันตีว่าจะง่ายต่อนักพัฒนา, การบริหารจัดการข้อมูลแบบใหม่ที่จะทำให้ระบบทำงานได้เร็วและไม่หน่วง, มาตรฐานความปลอดภัยที่ทำให้ HarmonyOS ไม่มีช่องโหว่เหมือน Android และการแชร์ไปยังอุปกรณ์อื่นที่ทำได้แบบครอบจักรวาล
ยังเลือกใช้ระบบปฏิบัติการ Android ในสมาร์ทโฟนต่อไป
จุดที่น่าสนใจคือ HarmonyOS ไม่มีแผนนำไปใช้กับสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟน แต่จะเน้นที่สินค้า IoT, AI และอุปกรณ์เทคโนโลยี 5G อื่น เรื่องนี้ผู้บริหาร Huawei ยอมรับว่าเหตุที่ยังเลือกใช้ระบบปฏิบัติการ Android ในสมาร์ทโฟนต่อไป เป็นเพราะยังคงให้ความสำคัญกับ Android มากกว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนใน Android ไปมากและผู้ใช้งานส่วนใหญ่ยังนิยมใช้งาน จึงทำให้ Android ยังเป็นระบบปฏิบัติการหลัก แต่ HarmonyOS จะเป็นแผน 2 หรือ Plan B ในกรณีฉุกเฉินได้

แม้จะให้เหตุผลเช่นนี้ แต่ผู้สังเกตการณ์ฟันธงว่า HarmonyOS ยังแข่งกับ Android ไม่ได้เพราะยังขาดบริการและแอปพลิเคชันที่ผู้บริโภคชื่นชอบ ซึ่งเมื่อเทียบกับ Android ที่มีแอปพลิเคชันในมือมากกว่า 2 ล้านแอปแล้ว การจะจูงใจให้นักพัฒนาแปลงแอปพลิเคชันของตัวเองให้รองรับ HarmonyOS นั้นต้องใช้ความพยายามและเงินถุงเงินถังร่วมด้วย เห็นได้ชัดจากเมื่อครั้งอาร์ไอเอ็ม (RIM) พยายามผลักดันระบบปฏิบัติการแบล็กเบอรี่เท็น (Blackberry 10) ในปี 2013 เวลานั้น RIM ต้องจัดงานรวมตัวนักพัฒนาให้มาร่วมกิจกรรม “แปลงแอปพลิเคชันของตัวเองให้รองรับ Blackberry 10” โดยแถมเงินให้ด้วยอีกแอปพลิเคชันละ 100 เหรียญสหรัฐ ผลจากมหกรรมแปลงแอปในเวลานั้นทำให้ RIM เพิ่มแอปพลิเคชันในมือได้มากกว่า 15,000 แอปในเวลาเพียง 2 วัน แต่ทั้งหมดก็ไร้ค่าเพราะไม่อาจสู้ Android ที่มีแอปพลิเคชันราว 1 ล้านแอปในเวลานั้น

สำหรับ HarmonyOS ผู้บริหารไม่เปิดเผยเป้าหมายตัวเลขแอปพลิเคชันในอีโคซิสเต็มส์ที่หวังไว้ ระบุว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับนักพัฒนา และบริษัทจะเน้นสร้างอีโคซิสเต็มส์เพื่อสนับสนุนเต็มที่ โดยปัจจุบัน โลกมีแอปพลิเคชันมากกว่า 3.9 ล้านแอปสำหรับสมาร์ทโฟน, 2 หมื่นแอปสำหรับนาฬิกาอัจฉริยะ และ 1 หมื่นสำหรับทีวี และอีกมากกว่า 100 ที่เริ่มพัฒนาสำหรับรถอัจฉริยะ

เบ็ดเสร็จแล้ว หัวเว่ยใช้งบประมาณปั้นอีโคซิสเต็มส์ให้ HarmonyOS ไปแล้วกว่า 4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 5 พันล้านบาทในปี 2018 และ 3.5 หมื่นล้านบาทในปีนี้ โดยเงินทุน 80% จะถูกใช้นอกประเทศจีน ไปกับการอัดฉีดชุมชนนักพัฒนาให้ตื่นตัวและได้รับความสะดวกสบายในการแปลงแอปพลิเคชันให้รองรับ HarmonyOS

ผู้บริหาร Huawei ยืนยันว่า HarmonyOS จะไม่มีปัญหาเข้ากับ Android ไม่ได้ เพราะความเป็นโอเพ่นซอร์สจะทำให้ HarmonyOS ทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการอื่นได้บนหลายอุปกรณ์ ซึ่งจะมีการพัฒนาชุดซอฟต์แวร์ SDK เพื่อเชื่อมต่อการทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดนับตั้งแต่ปีนี้

สำหรับ HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติการที่หัวเว่ยเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2017 จนสามารถเปิดตัวเป็น HarmonyOS 1.0 ในปี 2019 หลังจากพัฒนาขึ้นเองภายในบริษัท เป้าหมายเบื้องต้นคือวางตลาดในสินค้ากลุ่มพีซี สมาร์ทวอตช์ และสายรัดข้อมือในปีหน้า เพื่อปูทางขยายไปถึงสินค้ากลุ่มลำโพงและหูฟังในปีถัดไป รวมถึงแว่นเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง VR ในปี 2022.
กำลังโหลดความคิดเห็น