xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนไทยเบนเข็มลงทุนไต้หวัน รุกพลังงานลม-ซื้อเทคโนโลยี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ไต้หวันให้ความสำคัญในด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการก่อตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Industrial Technology Research Institute - ITRI) เมื่อปี 2516 เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร ได้รับงบประมาณจากหน่วยงานไต้หวันเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรม มีเป้าหมายการค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใน 3 ด้าน ประกอบด้วย การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living), สุขภาพที่มีคุณภาพ (Quality Health) และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainable Environment)

สำหรับผลงานวิจัยที่เตรียมต่อยอดผลิตเชิงพาณิชย์ในเร็วๆ นี้ ได้แก่ วัสดุผ้ารักษ์โลก ที่ผลิตโดยกระบวนการ The Supercritical CO2 Dyeing And The Synchronized Functional Dyeing Technology ทำให้การย้อมผ้าแบบไม่ใช้น้ำ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สอดรับนโยบายพลังงานสีเขียวของไต้หวัน โปรเจกต์นี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท NIKE เพื่อนำไปผลิตเสื้อผ้ากีฬา, การวิจัยนำสารลิกนิน (LIGNIN) ที่เป็นสารช่วยป้องกันต้นไม้ไม่ให้แมลงกัดกินมาใช้เคลือบโลหะช่วยถนอมอาหาร, การนำวัสดุเหลือใช้การเกษตรมาต่อยอดเป็นไบโอพลาสติก ทำเป็นเส้นใยสิ่งทอผลิตรองเท้าและเสื้อผ้า ซึ่งล่าสุดมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยได้ร่วมมือกับ ITRI สนับสนุนการวิจัยโดยนำฟางข้าวมาต่อยอดผลิตไบโอพลาสติกด้วย โครงการโซลาร์เซลล์สำหรับติดตั้งได้ภายในบ้าน เพียงแค่แสงสว่างภายในบ้านมาผลิตไฟฟ้าได้ คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563


รวมทั้งได้มีการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเพื่อใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยการันตีไม่มีการระเบิด เพราะมีระบบที่ช่วยให้แบตเตอรี่ไม่ร้อน ล่าสุดทางบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ได้ซื้อเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อนำมาผลิตแบตเตอรีลิเทียมไอออนในเร็วๆ นี้ โดยให้ EA ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นเวลา 3 ปี

รวมทั้งยังได้วิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่อะลูมิเนียมไอออน ฯลฯ รวมทั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เนื่องจากไต้หวันมีการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ต้องใช้แบตเตอรี่เพื่อกักเก็บไฟฟ้าที่ดี ซึ่งไต้หวันได้มีการวิจัยแบตเตอรี่ในหลายรูปแบบเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และต้นทุนการผลิตที่ต่ำ รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตไฟฟ้าใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนนโยบายพลังงานสีเขียว (Green Policy) ที่ผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของการใช้พลังงานทั้งหมดภายใน 8 ปี สิ้นสุดปี 2568 โดยไต้หวันกำหนดแผนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวมทั้งสิ้น 31,161 เมกะวัตต์ในปี 2568

แผนการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนระบุ พลังงานลมนอกชายฝั่ง (offshore) ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 8 เมกะวัตต์ในปี 2561 เป็น 5,738 เมกะวัตต์ในปี 2568 รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะเพิ่มเป็น 20,000 เมกะวัตต์ในปี 2568 จากปีที่แล้ว 2,837 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทผลิตไฟฟ้าของไทยหลายรายให้ความสนใจศึกษาและลงทุนโรงไฟฟ้าพลังลมในไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) (BCPG) และรายอื่นๆ

เพื่อเป็นการลดมลภาวะทางอากาศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มมากขึ้นหลังจากได้เริ่มพัฒนามานานนับ 10 ปี โดยให้การอุดหนุนส่วนลดสำหรับการซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (สกูตเตอร์ไฟฟ้า) 50% ก่อนที่จะลดลงมาเหลือ 30% ของราคาเต็ม จนปัจจุบันมีรถสกูตเตอร์ไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 2 แสนคัน ส่วนรถบัสไฟฟ้าก็ให้ส่วนลด 30% ซึ่งปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มากก็ตาม สำหรับรถยนต์ไฟฟ้านั้นไม่ได้รับการอุดหนุน จึงมีการใช้อยู่เพียง 300 คัน ขณะที่สถานีชาร์จรถไฟฟ้าจะมีการติดตั้งอยู่แถวห้างสรรพสินค้า และอาคารต่างๆ รวมแล้วกว่า 1,300 แห่ง

ดังนั้น เศรษฐกิจไต้หวันที่เติบโตต่อไปในอนาคตจะถูกขับเคลื่อนจากนวัตกรรม มีการส่งเสริมสตาร์ทอัพ โดยจัดตั้ง Asia Silicon Valley Development Agency (ASVDA) มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองเถาหยวน พัฒนาเป็นศูนย์อินโนเวชันฮับเพื่อให้สตาร์ทอัพมาเช่าใช้พื้นที่คิดค้นพัฒนางานวิจัย โดยโครงการอินโนเวชันฮับเปิดตัวเฟสแรกเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพมาใช้บริการเต็มพื้นที่แล้วกว่า 42 ราย และเตรียมขยายเฟส 2 ในปลายปี 2563 ภายในพื้นที่ดังกล่าวยังมีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์ไร้คนขับ (AUTONOMOUS VEHICLE), การนำโดรนมาใช้ในภาคการเกษตร

สำหรับประเทศไทยที่มีการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 คงไม่อาจรอช้าได้ เพราะหลายประเทศทั่วโลกต่างมุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกัน สิ่งใดที่เป็นอุปสรรคจำเป็นต้องเร่งแก้ไข พร้อมทั้งดึงดูดการลงทุนต่างชาติรวมทั้งการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทันสมัยมาอยู่ใน EECi คงต้องอาศัยรัฐบาลและภาคเอกชนร่วมมือกันจึงจะสำเร็จได้

กำลังโหลดความคิดเห็น