xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นโลว์คอสต์แอร์ไลน์ซบ นักท่องเที่ยวหดบาทแข็งใช้จ่ายพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ส่องหุ้นโลว์คอสแอร์ไลน์ หลังผลดำเนินงานไตรมาส 2 ขาดทุนจากการแข่งขันที่รุนแรง ปริมาณนักท่องเที่ยวลดลง และค่าเงินบาทแข็งฉุดค่าใช้จ่ายเพิ่ม โบรกฯ เชื่อ AAV ยังมีลุ้นไตรมาสสุดท้ายช่วยขยับกำไรจาก High Season ส่วน NOK ยังอยู่ในสถานะเดิม ขณะแผนฟื้นธุรกิจไปได้ด้วยดีเพราะต้นทุนเชื้อเพลิงลดลง

การประกาศผลดำเนินงานรอบ 6 เดือนแรกปี 2562 ของบริษัทจดทะเบียนทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มสายการบิน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือผลดำเนินงานของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อยู่ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) (AAV) หรือ “แอร์เอเชีย” อีกบริษัทคือ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) (NOK) หรือ “นกแอร์” ซึ่งในไตรมาส 2/62 ที่ผ่านมาประกาศผลดำเนินงานขาดทุนสุทธิทั้งคู่ รวมถึงหุ้นสายการบินอื่นที่อยู่ในตลาดหุ้น เนื่องจากปัญหาการแข่งขันในอุตสาหกรรมรุนแรง และอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็งค่า รวมถึงปริมาณนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีนที่ลดลงจนฉุดความสามารถทำกำไร

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าผลดำเนินงานไตรมาส 3 ของธุรกิจสายการบินจะยังคงต่ำลง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นช่วง High Season ของธุรกิจนั้นหลายฝ่ายเชื่อว่า AAV มีโอกาสฟื้นตัวหรือกล่าวได้ว่ายังมีกำไรสุทธิ แม้จะปรับตัวลดลงไปมากกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ตาม ขณะที่ NOK จากการขาดทุนสุทธิที่ต่อเนื่อง แม้จะเริ่มมีสัญญาณที่ดีจากการขาดทุนสุทธิลดลง แต่โดยรวมทั้งปี 2562 บริษัทจะยังขาดทุนสุทธิอยู่ นั่นทำให้ความน่าสนใจต่อการเข้าลงทุนในหุ้น NOK ของนักลงทุนลดลงตามไปด้วย หรือหากกล่าวโดยสรุปคือ AAV ยังมีโอกาสเติบโต และมีความน่าสนใจเข้าลงทุนมากกว่า

สิ่งนี้นำไปสู่คำถามด้านศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของทั้ง 2 บริษัทที่ทำธุรกิจแบบเดียวกันทำไมถึงแตกต่างกัน โดยจากความคิดเห็นของนักลงทุนต่างให้น้ำหนักไปที่การบริหารงานของผู้บริหารในช่วงที่ผ่านมามีความแตกต่างกันมาก เริ่มที่ NOK จากเดิมที่ บมจ.การบินไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าอาจเป็นอีกอุปสรรคต่อการเติบโตทางธุรกิจ โดยเฉพาะการวางตำแหน่งของตนเอง เนื่องจากไม่สามารถขยายขีดความสามารถในการให้บริการได้อย่างเต็มที่ เพราะอาจกระทบต่อธุรกิจหลักของผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อีกทั้ง บมจ.การบินไทยยังมีสายการบินต้นทุนของตนเอง

ขณะที่ AAV มีความชัดเจนในการวางตำแหน่งทางธุรกิจของตนเองที่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ โดยมีจุดเด่นที่ราคาตั๋วเครื่องบินถูก และยังมีพันธมิตรสายการบินแอร์เอเชียของประเทศพันธมิตรรวมสนับสนุนทำให้มีเส้นทางบินให้บริการที่มากกว่า นำไปสู่ช่องทางรายได้ภายในและต่างประเทศในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ส่วน NOK แม้ปัจจุบันมีเส้นทางบินต่างประเทศมากขึ้น แต่สัดส่วนรายได้ใหญ่ยังมาจากภายในประเทศมากกว่า

นอกจากนี้ ในเรื่องของแบรนด์ ต้องยอมรับว่า “แอร์เอเชีย” ได้รับการยอมรับจากผู้ใช้บริการโลว์คอสต์แอร์ไลน์ในสัดส่วนที่สูง จากความเชื่อถือในแบรนด์ ความปลอดภัย ราคาค่าโดยสารที่ถูก และการตรงต่อเวลา ขณะที่ “นกแอร์” ในช่วงที่ผ่านมามักเกิดปัญหาความล่าช้า อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงความเห็นบางส่วนของนักลงทุนที่มีต่อหุ้นสายการบินโลว์คอสต์ในประเทศเท่านั้น ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ทั้ง 2 บริษัทนั้นแตกต่างกัน โดยเฉพาะในแง่ผลประกอบการ และต่อจากนี้คือข้อมูลพื้นฐานของทั้ง 2 บริษัท

ผลดำเนินงานล่าสุด

AAV ขาดทุนเพิ่ม : บริษัทประกาศผลดำเนินงานไตรมาส2 /62 มีรายได้รวม 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาส 2/61 ที่มีรายได้ 9.30 พันล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายรวม 1.08 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% ส่งผลให้ส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นขาดทุนสุทธิ 482.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งที่มีปริมาณผู้โดยสารเติบโตกว่า 5% มาอยู่ที่ 5.6 ล้านคน ซึ่งเติบโตสูงกว่าการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย แต่ราคาค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 1,390 บาท/คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการแข็งค่าของเงินบาทและการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินหยวน ส่งผลให้อัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 83% ลดลง 2 จุดจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ AAV ยังมีการบันทึกรายการพิเศษจากหนี้สินสำรองผลประโยชน์ระยะยาวของพนักงานจำนวน 111 ล้านบาท ส่งผลให้มีผลขาดทุนก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงินและภาษีเงินได้อยู่ที่ 790.4 ล้านบาท และมีอัตรากำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงิน, ภาษีเงินได้, ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR Margin) ที่ 10% อีกทั้งค่าใช้จ่ายทางการเงินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามภาระหนี้สินที่มีดอกเบี้ย จนส่งผลให้ “ไทยแอร์เอเชีย” (บริษัทลูก) มีขาดทุนสุทธิไตรมาส 2/62 จำนวน 879.1 ล้านบาท หรือ 9% โดยครึ่งปีแรก AAV มีรายได้สุทธิ 2.16 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 14.73 ล้านบาท

NOK ขาดทุนลดลง : บริษัทรายงานขาดทุนสุทธิไตรมาส 2/62 จำนวน 796.41 ล้านบาท ถือเป็นการขาดทุนลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 1.09 พันล้านบาท แบ่งเป็นผลขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมของบริษัทใหญ่ 551.06 ล้านบาท และผลขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมจากส่วนที่เป็นของส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม 245.35 ล้านบาท

ผลประกอบการเฉพาะกิจการ NOK ในไตรมาส 2 มีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จ 469.82 ล้านบาท ลดลง 36.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 742.61 ล้านบาท และสำหรับงวด 6 เดือนแรกปี 2562 บริษัทมีผลขาดทุน 751.09 ล้านบาท ลดลง 23.59 ล้านบาท หรือ 3.05% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ แผนฟื้นธุรกิจของ NOK เป็นไปได้ด้วยดี โดยสาเหตุหลักมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงลดลง และบริษัทสามารถลดค่าใช้จ่าย ทั้งในส่วนค่าซ่อมบำรุงเครื่องบินและค่าเช่าเครื่องบินลงได้ตามแผนฟื้นธุรกิจ อย่างไรก็ตาม รายได้รวมของบริษัทได้ปรับลดลงตามการลดขนาดฝูงบิน ประกอบกับภาวะการแข่งขันทางด้านราคาที่รุนแรงและเข้าสู่ช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ลดลง ทำให้รายได้ค่าโดยสารลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้บริษัทได้ปรับตารางบินในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ผลดำเนินงานย้อนหลัง

ต้องยอมรับว่า AAV มีผลดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปี (2558-ปัจจุบัน) ที่ดีกว่า โดยในด้านรายได้พบว่าเติบโตต่อเนื่องจาก 3.04 หมื่นล้านบาทในปี 2558 มาอยู่ 4.02 หมื่นล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ขณะที่กำไรสุทธิพบว่าปี 2559 บริษัทมีกำไรสุทธิสูงถึง 1.47 พันล้านบาท และต่ำสุด 69.97 ล้านบาทในปี 2561

ด้านสินทรัพย์รวมปัจจุบันไตรมาส 2/62 อยู่ที่ 6.09 หมื่นล้านบาท จาก 5.28 หมื่นล้านบาทในปี 2558 ขณะที่หนี้สินรวมปัจจุบันไตรมาส 2/62 อยู่ที่ 3.24 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ที่ระดับ 3.31 หมื่นล้านบาท แต่ถือว่าเติบโตขึ้นมากจากปี 2558 ที่ระดับ 2.47 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทมีมูลค่ามาร์เกตแคปที่ 1.59 หมื่นล้านบาท จากที่เคยอยู่ที่ 2.98 หมื่นล้านบาทในปี 2560

ด้าน NOK เคยทำรายได้รวมสูงถึง 2.03 หมื่นล้านบาทในปี 2560 และลดลงเหลือ 1.97 หมื่นล้านบาทในปี 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ระดับ 1.42 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิ พบว่าขาดทุนต่อเนื่องจากปี 2558 ขาดทุน 726.10 ล้านบาท มาอยู่ที่ขาดทุน 2.78 พันล้านบาทในปี 2561

ขณะที่สินทรัพย์รวมในปี 2561 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท จาก 7.11 พันล้านบาทในปี 2558 เช่นเดียวกับหนี้สินรวมซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.71 หมื่นล้านบาทจาก ปี 2558 ที่ระดับ 4.16 พันล้านบาท ส่วนมูลค่ามาร์เกตแคปของบริษัทปัจจุบันอยู่ที่ 6.83 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ระดับ 4.25 พันล้านบาท

กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่

จากข้อมูลพบว่า AAV มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่คือ นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ สัดส่วน 41.32% อันดับ 2 คือกองทุนรวมของ บลจ.บัวหลวงที่ถือหุ้นรวมกัน 10.08% อันดับ 3 ไทยเอ็นวีดีอาร์ 7.85% และ นายธนรัชต์ พสวงศ์ 3.73% ส่วน NOK มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มจุฬางกูร ที่มีสัดส่วนรวมกัน 67.42% ที่เพิ่มขึ้นตามการเพิ่มทุนของบริษัทที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามมาด้วย บมจ.การบินไทย 15.94% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากปฏิเสธการเพิ่มทุน

ขนาดฝูงบิน AAV และ NOK

สำหรับ AAV ในช่วงที่เหลือของปี 2562 บริษัทคาดว่าจะเพิ่มเครื่องบินใหม่อีก 2 ลำที่จะรับเข้ามาในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมนี้ ทำให้ฝูงบินในสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 63 ลำ ทำให้ AAV มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น 8% ขณะที่อัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) คาดว่าจะอยู่ที่ราว 86% ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกับปริมาณผู้ใช้บริการที่ขยายตัว ส่งผลให้ AAV น่าจะมียอดผู้โดยสารที่ใช้บริการปีนี้เป็นไปตามเป้าหมาย 23.5 ล้านคน จากช่วงครึ่งปีแรกมียอดผู้โดยสารกว่า 11 ล้านคน และปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 12% จากปัจจัยข้างต้น ทำให้มองว่าจะช่วยสะท้อนต่ออัตราการใช้เครื่องบิน (Utilization) ที่เพิ่มขึ้นตามเป้าที่วางไว้เป็น 12.5 ชั่วโมงต่อวัน จากเดิมเฉลี่ยที่ 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจะผลักดันให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันในส่วนของ "ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์" มีฝูงบินจำนวน 14 ลำ จากเดิมที่มีอยู่จำนวน 9 ลำ

ขณะที่ NOK บริษัทได้ลดขนาดฝูงบินจากจำนวน 28 ลำ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2561 เหลือ 22 ลำ ณ สิ้นไตรมาส 2/62 หรือลดลง 18.48% มีผลตรงต่อการเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น 1.91% และรายได้ต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (RASK) เพิ่มขึ้น 3.28% ขณะที่ต้นทุนต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (CASK) ลดลง 4.33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี การลดขนาดฝูงบินได้ส่งผลให้ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารลดลง รวมถึงจำนวนเที่ยวบินลดลง 10.19% และ 10.34% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจุบันสายการบินนกแอร์มีเส้นทางบินครอบคลุมทั้งเมืองหลักและเมืองรองมากที่สุดทั่วประเทศไทยถึง 51 เส้นทาง และเส้นทางบินระหว่างประเทศที่รวมบริการแบบเช่าเหมาลำถึง 10 เส้นทาง

แนวโน้มทิศทางธุรกิจ

ภาพรวมของผลประกอบการหุ้นกลุ่มสายการบินในไตรมาส 2/62 ที่รายงานออกมา ส่วนใหญ่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ประมาณการ เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาการแข่งขันในอุตสาหกรรมรุนแรง และอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็งค่า ฉุดความสามารถทำกำไรลดลง

ขณะเดียวกัน สิ่งที่เห็นได้ชัดคือปริมาณนักท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าคาด รวมถึงผลจากการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังคงมองปัจจัยพื้นฐาน AAV ถือว่าแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่ม จึงแนะนำรอจังหวะให้ราคาหุ้นตอบสนองกับ Sentiment เชิงลบไปสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยพิจารณาจับจังหวะเข้าทยอยซื้อหุ้นรอบใหม่อีกครั้ง เพราะหุ้นสายการบินในช่วงนี้ต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 3/62 ผลประกอบการยังมีความเสี่ยงออกมาไม่ดี ต้องไปรอลุ้นไตรมาสสุดท้ายของปีเลยว่าจะสามารถพลิกกลับมาฟื้นตัวได้หรือไม่

ทั้งนี้ บล.ฟิลลิปประเมินทิศทาง AAV ว่าปัจจัยภายนอกยังกดดันการดำเนินงาน โดยสงครามการค้า เงินบาทแข็งค่า และเงินหยวนอ่อนค่า ยังกดดันนักท่องเที่ยวจีนทำให้ต้องลดราคาตั๋วเพื่อดึงคนและไปเพิ่มรายได้เสริมแทน รวมถึงควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อพยุงสถานการณ์ แต่ครึ่งปีหลังคงต้องดูไตรมาสสุดท้ายปีนี้ที่เป็น high season รวมถึงมาตรการด้านท่องเที่ยวของภาครัฐที่จะมีออกมาจะช่วยผลักดันผลดำเนินงานได้มากน้อยเพียงใด โดยยังแนะนำ "ซื้อ" ราคาพื้นฐาน 4.60 บาท พร้อมปรับกำไรปีนี้ลงเป็น 62 ล้านบาท และคาดปี 2563 มีกำไร 479 ล้านบาท และมองว่า AAV เป็นสายการบินที่ดูดีสุดในกลุ่ม

ส่วน บล.เคจีไอให้มุมมองต่อ NOK ว่า บริษัทอาจรายงานขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่การท่องเที่ยวชะลอตัว อีกทั้งการแข่งขันในธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำเข้มข้นมากขึ้น และคาดว่าบริษัทจะตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่ประมาณ 90 ล้านบาท

กำลังโหลดความคิดเห็น