xs
xsm
sm
md
lg

เอฟเฟกต์ กนง.ลดดอกเบี้ย หุ้นแบงก์ร่วงสวนทางอสังหาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


เอฟเฟกต์ กนง.ปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังหลายสัญญาณบ่งชี้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ด้านกระทรวงคลังปลื้มสอดรับนโยบายกระตุ้น ขณะที่ตลาดหุ้นกลุ่มแบงก์โดนเทขาย สวนทางกลุ่มอสังหาฯ และไฟแนนซ์ที่ต้นทุนลด ส่วนต่างดอกเบี้ยเพิ่ม แต่เตือนอย่ามองข้ามหุ้นธนาคาร เพราะยังซื้อขายบนค่า P/E ที่ถูก อนาคตมีโอกาสขยับขึ้น

ต้องยอมรับว่าการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 1.50% ต่อปี และให้มีผลทันที เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สร้างเอฟเฟกต์ให้กับหลายสิ่งในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตลาดเงินตลาดทุน เพราะถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ในรอบ 4 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2558

“ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง.รายงานว่า ที่ประชุม กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี หลังจากที่ประชุมได้มีการปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปต่ำลงกว่าการประมาณการครั้งก่อนที่ 3.3% และ 1.0% ตามลำดับ พร้อมกับคาดว่าตัวเลขการขยายตัวของการส่งออกในปีนี้จะติดลบ จากที่เคยประมาณการไว้ที่ 0% เนื่องจากผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีนเพิ่มสูงขึ้น และขยายวงกว้างมากขึ้น และตัวเลขการนำเข้าที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ก็มีผลต่อการส่งออกในอนาคตด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ ที่ประชุม กนง.ยังมองว่า ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ตามการลงทุนภาครัฐที่มีข้อจำกัดจาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ที่คาดว่าจะล่าช้า ประเด็นที่สำคัญคือ เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากราคาพลังงานที่ปรับลดลงเร็ว รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอลงตามแรงกดดัน ในฝั่งกำลังซื้อที่ลดลง ทำให้เชื่อว่าการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ กนง.ก็จะติดตามความเสี่ยงเรื่องการกีดกันทางการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีเพิ่มขึ้น

ภาพรวมสิ่งที่เกิดขึ้นต่อมติของ กนง.ครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดและต่ำกว่าระดับศักยภาพ กับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน แม้มองว่า ธปท.มีมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินแล้วในระดับหนึ่ง แต่ต้องติดตามการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และนั่นทำให้ในระยะต่อไปหากเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงและดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินและมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินอาจจะถูกนำมาใช้มากขึ้น

คลังปลื้มลดดอกเบี้ยส่งผลดีเศรษฐกิจ

“ลวรณ แสงสนิท” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และโฆษกกระทรวงการคลัง แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.50% ของ กนง.ครั้งนี้นับว่าเอื้อต่อบรรยากาศการลงทุน ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น ถือเป็นจิตวิทยาอีกด้านหนึ่งช่วยชะลอเงินทุนไหลเข้า ลดแรงกดดันต่อเงินบาทแข็งค่า โดยกระทรวงการคลังเตรียมประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในเร็วๆ นี้ หลังจากไตรมาสแรกจีดีพีขยายตัว 2.8%

ส่วนการอ่อนค่าของเงินหยวน กระทรวงการคลังยืนยันว่าจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะเงินหยวนอ่อนค่าลง ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอาจกระทบต่อการท่องเที่ยว เพราะจีนเป็นต่างชาติกลุ่มใหญ่เดินทางมาเที่ยวไทย ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวไทยและต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย ขณะนี้ได้หารือกับหลายหน่วยงานเตรียมพร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใกล้สรุปหลักเกณฑ์ทั้งหมดแล้วเพื่อดูแลทั้งภาคเกษตร ผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี คนมีรายได้ระดับกลาง โดยมีเงินทุนอัดฉีดประมาณ 1.7 แสนล้านบาทเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งคาดจะเสนอคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณาได้วันที่ 19 ส.ค.นี้

หุ้นแบงก์โดนขาย สวนทางไฟแนนซ์ & อสังหาฯ

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า กนง.มีเหตุผลเพียงพอที่จะใช้นโยบายด้านการเงินเข้ามาเป็นเครื่องมือในการดูแลเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าคณะกรรมการได้ประเมินปัจจัยต่างประเทศที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยแล้ว โดยแนะนำนักลงทุนให้ติดตามและศึกษาการลงทุนเป็นรายบริษัท รายอุตสาหกรรม และพิจารณาการลงทุนตามความสามารถในการทำกำไรของแต่ละบริษัท เพราะบริษัทจดทะเบียนไทยถือว่าแข็งแกร่งจากที่มีการประกอบกิจการในและต่างประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจไทยไม่อ่อนแอ เพราะมีฐานะทางการเงิน และการคลังที่แข็งแกร่ง


ขณะเดียวกัน ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้มีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามเรื่องสงครามการค้าที่จะพัฒนาเป็นสงครามค่าเงินหรือไม่ หลังจากที่จีนลดค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลงเพื่อเป็นการตอบโต้ที่สหรัฐฯ จะเก็บภาษี สินค้านำเข้าจากจีนอีก 10% มูลค่า 3 แสนล้าน ดอลลาร์และทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งมีผลต่อทิศทางตลาดหุ้นไทย นักลงทุนต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

ไม่เพียงเท่านี้ หลังจากมีมติประชุม กนง.ออกมานั้น ได้เกิดแรงซื้อเข้ามาในตลาดหุ้นจนดัชนีหลักทรัพย์สามารถขยับขึ้นไปแตะระดับ 1,680 ทันทีแม้หลังจากนั้นจะปรับตัวลดลงก็ตาม โดยสิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนคือแรงเทขายในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ตามความกังวลว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่อกำไรที่อาจจะน้อยกว่าประมาณการ ขณะที่กลุ่มไอซีที การเงิน กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ปรับขึ้น

เนื่องจากมติดังกล่าวของ กนง.ถือเป็น Positive Surprise ของตลาดหุ้นไทยเพราะจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้กับผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยกว้างขึ้น ส่งผลให้มีแนวโน้มว่าเม็ดเงินลงทุนจะไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยเพิ่มมากขึ้น โดยหุ้นกลุ่มที่เชื่อว่าจะได้รับอานิสงส์โดยตรงคือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลงจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชนทั่วไป ประกอบกับราคาหุ้นในกลุ่มหลายตัวปรับตัวลดลงอยู่ในระดับที่น่าทยอยสะสม อีกทั้งถือเป็นการช่วยผู้ประกอบการปรับลดต้นทุนภาคธุรกิจ และภาระดอกเบี้ยของผู้กู้ลดลง จึงเป็นปัจจัยหนุนต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ขณะที่กลุ่มไฟแนนซ์ที่ปล่อยกู้รายย่อยจะได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวด้วย เนื่องจากส่วนต่างดอกเบี้ยจะสูงขึ้น พร้อมกันนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้หน่วยลงทุน Property Fund REIT รวมไปถึงหุ้นที่เป็น High Dividend มีความน่าสนใจมากขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งกลุ่มหุ้นได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มส่งออก ทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มธนาคารยังมีความน่าสนใจ เนื่องจากนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่าที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มนี้ซื้อขายในระดับราคาต่อกำไรต่อหุ้น (พี/อี) ที่ถูกมากแล้ว จึงมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น