xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” เอาใจขาซิ่ง เหยียบ 120 กม./ชม.โจทย์ยาก…คมนาคมปลอดภัย?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


เรื่องความเร็ว 120 กม./ชม.กลายเป็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” ทันที เมื่อ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศนโยบายเร่งด่วน กำหนดอัตราความเร็วถนน 4 ช่องทางจราจรขึ้นไปให้ใช้อัตราความเร็วได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อระบายการจราจรให้คล่องตัวยิ่งขึ้น

นอกจากมีเสียงตอบรับอื้ออึงแล้ว ยังได้ใจ ขาซิ่ง...ไปเต็มๆ

เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา เพียง 1 สัปดาห์ต่อมา รมว.คมนาคมได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน ชุดแปลงนโยบายเร่งด่วนไปสู่การปฏิบัติ “ศักดิ์สยาม” ระบุว่า เป็นประธานบัญชาการชุดนี้เอง ส่วนกรรมการมีระดับบิ๊กอย่าง ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วม เรียกว่าเป็นคณะทำงานชุด “ดรีมทีม”

การันตีว่า! นโยบายนี้ไม่ใช่พูดเล่น ...เอามัน แต่หวังผล และจะทำให้ได้ภายใน 1 เดือน

ศักดิ์สยามระบุว่า จะกำหนดความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. บนถนน 4 ช่องจราจรขึ้นไป เพื่อจะระบายการจราจรให้คล่องตัว เน้นทางหลวงที่เป็นโครงข่ายหลัก ได้แก่ ถนนมิตรภาพ ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรเกษม และถนนพหลโยธิน ใช้รูปแบบกำหนดความเร็วในแต่ละช่องจราจรเหมือนในต่างประเทศ เช่น ซ้ายสุด ไม่ต่ำกว่า 60 กม./ชม. เลนที่สอง ความเร็ว 80 กม./ชม. เลนที่สาม ความเร็ว 100 กม./ชม. และเลนขวาสุด ความเร็ว 120 กม./ชม. เป็นต้น ทำให้รถแต่ละเลนมีความเร็วในระดับเดียวกันวิ่งตามไปโดยไม่ติดขัด ไม่ต้องวิ่งเปลี่ยนเลนไปมา

ส่วนข้อห่วงใยเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนนั้น ศักดิ์สยามยืนยันแข็งขันว่า ได้ศึกษามาพอสมควร แต่ก็พร้อมรับฟังความเห็นอื่นๆ แต่! จากที่ได้รับฟังความเห็นจากประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเพิ่มความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีการกำหนดความเร็วในการขับขี่รถบนถนน มีกฎหมายที่เกี่ยวกับความเร็ว 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งตำรวจกำกับการใช้กฎหมาย และกฎกระทรวงคมนาคม ที่ประกาศ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ....

พ.ร.บ.จราจรทางบกจะกำหนดความเร็วโดยทั่วไป ใช้บังคับบนถนนทั่วไปในอัตราที่แตกต่างกัน เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานและเพี่อความปลอดภัย เช่น ถนนทั่วไป ถนนชุมชน เป็นต้น

ส่วน พ.ร.บ.ทางหลวง เป็นกฎกระทรวงคมนาคมที่จะประกาศอัตราความเร็วบนทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ซึ่งกำหนดความเร็วรถ 4 ล้อไว้ที่ 120 กม./ชม.อยู่แล้ว แต่หลักการคือ จะมีการออกประกาศกระทรวงกำหนดในแต่ละสายทางเพื่อความชัดเจน

เช่น ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ทางสายกรุงเทพมหานคร-เมืองพัทยา และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) ทางสายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร พ.ร.บ.ทางหลวง กำหนดรถยนต์ 4 ล้อ ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. รถบรรทุก ความเร็วไม่เกิน 100 กม./ชม. รถพ่วง ไม่เกิน 80 กม./ชม.

ส่วนทางหลวงแผ่นดินทั่วไป พ.ร.บ.ทางหลวงกำหนดความเร็วไว้ที่ไม่เกิน 90 กม./ชม. แต่ในทางปฏิบัติ ตำรวจทางหลวงผ่อนผันไปที่ 110-120 กม./ชม.อยู่แล้ว

แต่... หากถนนเส้นทางถนนไหนไม่มีการออกประกาศกำหนดความเร็วเป็นกฎกระทรวง จะต้องยึดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกที่ตำรวจดูแล

@ ล็อกเลน...ล็อกความเร็ว-ถกมานาน แต่ยังทำไม่ได้

สำหรับการกำหนดความเร็วในแต่ละช่องทาง ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมากรมทางหลวงและตำรวจได้หารือกัน กรณีรถช้าให้วิ่งช่องซ้าย ส่วนช่องจราจรขวาจะให้ใช้สำหรับการแซง และสำหรับรถที่มีความเร็ว แต่ยังมีข้อติดขัด ที่ต้องหาข้อสรุป

นอกจากนี้ ทางหลวงโดยทั่วไปยังมีการเปิดเกาะ ทำเป็นจุดกลับรถ ซึ่งจะมีทุกๆ 2-3 กม. ทำให้เป็นปัญหาสำหรับรถที่วิ่งช่องขวาด้วยความเร็วจะต้องเปลี่ยนเลนเพื่อหลบจุดกลับรถ ...ถนนมีทางเชื่อม ซึ่งกำหนดระยะมองเห็น ออกแบบไว้ที่ความเร็วรถ 110 กม./ชม.

“ที่ผ่านมายังคุยกันไม่จบ แต่เห็นตรงกันว่าจะออกประกาศ วิ่งขวา 120 กม./ชม. เป็นสายๆ หรือหากไม่ได้ตลอด ต้องทำเป็นช่วงๆ โดยใช้ป้ายบังคับ “ขับซ้ายชิดซ้าย” เพื่อจัดระเบียบ พวกขับช้า...แช่ขวา เหมาะสม

ซึ่งเรื่องนี้ต้องสำรวจว่ามีถนนสายไหนบ้างที่มีกายภาพรองรับ มีระยะจุดเปิดเกาะกลับรถห่างกันมากๆ มีทางเชื่อมเข้าออกน้อย ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่ทำยาก และทำทีเดียวทั้งหมดไม่ได้ แม้ว่าจะเป็นถนน 4 เลนก็ตาม

@เปิดผลศึกษาการกำหนดความเร็วบนทางหลวงและทางด่วน

นายสุจิณ มั่งนิมิต ผู้อำนวยการสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง ได้สรุปรายงานการศึกษาการกำหนดอัตราความเร็วบนทางหลวงและทางด่วนว่า ความเร็วกับการออกแบบถนนมีความสัมพันธ์กับ เช่น การกำหนดรัศมีทางโค้ง การยกโค้ง ระยะมองเห็นที่ปลอดภัยทางแยก ทางเข้า-ออก ทางเชื่อม ดังนั้น ถนนทั่วไปออกแบบความเร็วที่ 90-110 กม./ชม. มอเตอร์เวย์ออกแบบความเร็วที่ 130-140 กม./ชม.

กรณีสองข้างทางเป็นชุมชน โรงเรียน มีรถจอด เข้า-ออก ทางข้าม ความเร็วอยู่ระหว่าง 40-50 กม./ชม.เท่านั้น

ซึ่งในต่างประเทศ การประกาศบังคับความเร็วรถนั้น จะกำหนดจากความเร็วเฉลี่ยที่รถส่วนใหญ่วิ่ง ซึ่งจากการสำรวจ ถนนขนาด 4 เลนของไทย พบว่ารถส่วนใหญ่ประมาณ 85% ใช้ความเร็วเฉลี่ยที่ 88-97 กม./ชม. ดังนั้น การกำหนดความเร็วที่ 100 กม./ชม. รถบนมอเตอร์เวย์ ส่วนใหญ่ใช้ความเร็วเฉลี่ย 98-117 กม./ชม. จึงกำหนดความเร็วที่ 120 กม./ชม.

สำหรับทางด่วน ทางยกระดับ ความเร็วจะขึ้นกับมาตรฐานราวกำแพงกันตก ซึ่งมาตรฐานการออกแบบระดับการชนที่ TL-3 ตามมาตรฐานสหรัฐอเมริกา (NCHRP 350) ความเร็วทดสอบชนราวกำแพงแล้ว แรงปะทะรถไม่พลิกข้ามกำแพงอยู่ที่ 100 กม./ชม.

ความเร็วบนทางด่วน และทางยกระดับ มีประกาศตามกฎกระทรวงฉบับที่ 6 ออกตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดในเขต กทม. ไม่เกิน 80 กม./ชม. ด้วยมาตรฐานการออกแบบราวกำแพงกันตก สามารถกำหนดความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 100 กม./ชม. ในช่วงทางตรง และควรกำหนดความเร็วแบบยืดหยุ่น ให้สามารถปรับได้ตามสภาพการจราจร

แต่! ปลดล็อกความเร็วบนทางด่วนอาจไม่ใช่คำตอบ... เท่ากับแก้ปัญหารถติด

@หวั่น! กลับไปเป็นแชมป์โลก... เจ็บตายบนถนน

โจทย์ใหญ่ของกระทรวงคมนาคม และรัฐบาลที่ผ่านมา คือลดการเกิดอุบัติเหตุ เจ็บ ตาย หลังจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศเมื่อปี 2559 ว่าไทยมีผู้เสียชีวิตปีละ 24,326 คน สูงเป็นอันดับสองของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนถึง 60 คน/วัน

กระทรวงคมนาคมรณรงค์ “ขับช้า เปิดไฟหน้า คาดเข็มขัดนิรภัย” “รถมอเตอร์ไซค์ เปิดไฟ ใส่หมวกกันน็อก” เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน และในปี 2561 WHO รายงานผลการสำรวจความปลอดภัยทางถนนของโลก พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยลดลงเป็นอันดับ 9 มีผู้เสียชีวิตปีละ 22,491 คน ลดลงจากเดิม 2,000 คน

การขับช้า....มีข้อดี ลดความรุนแรงกรณีเกิดอุบัติเหตุลงได้ ดังนั้น การปรับเพิ่มความเร็วเพื่อแก้รถติด ดูจะสวนทาง...โจทย์คมนาคม..ปลอดภัย ซึ่ง “ศักดิ์สยาม...ตำรวจ” จะต้องหาจุดสมดุล และตอบสังคมต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น