xs
xsm
sm
md
lg

อินโดนีเซียนับถอยหลังสร้างฮับอีวีแข่งไทย

เผยแพร่:

ฮุนไดพร้อมลุยตั้งโรงงานอีวีในแดนอิเหนา




อินโดนีเซียเตรียมออกมาตรการกระตุ้นชุดใหญ่เพื่อส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า รวมทั้งการสร้างฐานผลิตและส่งออกอีวีแข่งกับสิงคโปร์และไทย สู่เป้าหมายผู้นำอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดีเดย์เริ่มการผลิตในปี 2022 ขณะที่มาตรการจูงใจที่เตรียมไว้มีทั้งลดภาษีสำหรับผู้ซื้อและผู้ผลิต ที่จอดรถพิเศษและอีกมากมาย

ข่าวบอกว่า มาตรการนี้รอแค่การอนุมัติจากประธานาธิบดีโจโค วิโดโดเท่านั้น

ตลาดอาเซียนลู่ทางสดใส


อินโดนีเซียปักธงแข่งขันกับเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และไทยในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าหรืออีวีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรายงานของสมาคมพลังงานทดแทนระหว่างประเทศ (IRENA) ระบุว่า ในปี 2025 นั้น 20% ของรถทั้งหมดในภูมิภาคนี้จะเป็นรถไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงมอเตอร์ไซค์และรถสามล้อ 59 ล้านคัน และรถยนต์ 8.9 ล้านคัน

ตลาดรถไฟฟ้ายังมีโอกาสเติบโตอีกหลายเท่าเมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรทั้งหมดของ 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนที่มีถึง 640 ล้านคน

อิริก ยิป ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของแควนเทล ฟันธงว่า ไทยและเวียดนามจะเป็นสองด่านหน้าสำคัญ สำหรับเวียดนามนั้นตลาดอีวีกำลังเติบโตบานสะพรั่ง โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ขณะที่ยอดขายรถในไทยถูกคาดหมายว่า จะแตะ 1.2 ล้านคันเร็วๆ นี้ ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดยานยนต์ขนาดใหญ่ที่น่าจับตา

ขณะเดียวกัน รายงานของบริษัทที่ปรึกษา เบน แอนด์ คอมปานี ประเมินว่า การลงทุนด้านอีวีในภูมิภาคนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2030 และจำเป็นต้องอัดฉีดการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จรถไฟฟ้าอีก 500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อรวมกับการลงทุนด้านอื่นๆ จะทำให้ตลาดอีวีกลายเป็นหนึ่งในเซ็กเมนต์ที่มีการเติบโตมากที่สุดของอาเซียนในทศวรรษหน้า
ที่สำคัญ ผลสำรวจทัศนคติที่มีต่ออีวีของชาวอาเซียนที่นิสสัน มอเตอร์จัดทำขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ยังพบว่า ผู้บริโภคกว่า 1 ใน 3 (37%) ในสิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ พร้อมซื้ออีวี ขณะที่ผู้บริโภคอินโดนีเซียที่คิดแบบนี้มีถึง 41%
แผนการใหญ่



โตโยต้ามาแน่

สำหรับอินโดนีเซียนั้น นอกจากการแย่งชิงความเป็นหนึ่งในตลาดอีวีอาเซียนแล้ว แผนการส่งเสริมรถไฟฟ้ายังเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่ไปกับการลดการพึ่งพิงน้ำมันนำเข้าและการปล่อยไอเสียจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยนอกจากการส่งเสริมอีวีแล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียยังเล็งยกเลิกการขายรถใช้น้ำมันภายในปี 2040

แดนอิเหนาซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดอีวีที่ยังมีการแข่งขันน้อยมาก ต้องการให้รถไฟฟ้ามีสัดส่วน 1 ใน 4 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2030 ขณะที่รัฐบาลพยายามดึงดูดบริษัททั่วโลกเข้าลงทุน

เจฟโฟรเซนเบิร์ก ตัน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนของพีที สินาร์มาส ซีเคียวริตัส มองว่า กฎระเบียบใหม่เป็นการยกเครื่องอุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียครั้งใหญ่ที่สุด และถือเป็นความเคลื่อนไหวที่กล้าหาญและทะเยอทะยานอย่างมากของรัฐบาลอิเหนา ตันยังหวังว่า ความเคลื่อนไหวนี้จะดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่เข้าสู่โครงสร้างพื้นฐานด้านอีวีและตามมาด้วยการพัฒนาระบบนิเวศห่วงโซ่อุปทาน

ปลายสัปดาห์ที่แล้ว วิโดโดแถลงว่า จะลงนามรับรองกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวีทันทีที่ได้รับร่างจากรัฐสภา แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเฉพาะเจาะจงใดๆ แค่บอกว่า รัฐบาลจะเดินหน้าและจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้การสนับสนุนรถไฟฟ้าอย่างเต็มที่





สำนักข่าวบลูมเบิร์ก
รายงานว่า กฎใหม่ของอินโดนีเซียจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบภาษียานยนต์โดยอิงกับปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้และการปล่อยก๊าซคาร์บอนแทนประเภทตัวถังและขนาดเครื่องยนต์ เท่ากับว่า รถไฟฟ้าจะเสียภาษีน้อยกว่ารถใช้น้ำมัน
นอกจากนั้นผู้ผลิตอีวียังต้องเพิ่มจำนวนชิ้นส่วนที่ผลิตในท้องถิ่นจนถึง 80% ภายในปี 2030 และปี 2026 สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

ทางด้านรอยเตอร์ระบุว่า ผู้ผลิตรถยนต์อาจได้รับการลดหย่อนภาษีนำเข้าชิ้นส่วนสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงภาษีศุลกากรเครื่องจักรและวัตถุดิบในการผลิต

ส่วนผู้ใช้อีวีอาจได้ลดหย่อนภาษีรถไฟฟ้าหรูและภาษีรถยนต์ประจำปี การอุดหนุนค่าชาร์จแบตเตอรี่ รวมถึงมาตรการจูงใจที่ไม่ใช่การเงิน เช่น ที่จอดและเลนพิเศษ

ทั้งนี้ เดือนมีนาคมที่ผ่านมาระหว่างการประชุมกับรัฐสภา ศรีมัลยานี อินทราวาตี รัฐมนตรีคลังอินโดนีเซียได้เสนอแผนการภาษีใหม่เพื่อส่งเสริมการผลิตรถเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการยกเลิกภาษีรถหรูที่เป็นระบบไฟฟ้าและไฮบริด
ปัจจุบัน ค่ายรถระดับโลกหลายแห่งเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียหลายพันล้านดอลลาร์ เมื่อเร็วๆ นี้ โตโยต้า มอเตอร์ที่มีส่วนแบ่งตลาดแดนอิเหนามากที่สุด เผยว่า มีแผนทุ่มทุนอีก 2,000 ล้านดอลลาร์สร้างโรงงานรถไฮบริด เพื่อรองรับดีมานด์รถเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน ลูฮัต ปันด์ไจตัน รัฐมนตรีประสานงานกิจการทางทะเลของอินโดนีเซีย เผยว่า ฮุนได มอเตอร์จากเกาหลีใต้ เตรียมสร้างโรงงาน 2 แห่งในอินโดนีเซีย ซึ่งรวมถึงโรงงานผลิตอีวี โดยตั้งงบลงทุนไว้ 1,000 ล้านดอลลาร์



ซอฟต์แบงก์ลงทุน 2,000 ล้านดอลลาร์ผ่านแกร็บ ส่วนหนึ่งจะโฟกัสการสร้างเครือข่ายการขนส่งด้วยอีวีรุ่นใหม่



นอกจากนั้น สัปดาห์ที่แล้ว ซอฟต์แบงก์ ของญี่ปุ่นยังประกาศแผนการลงทุนมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ระยะ 5 ปีในอินโดนีเซียผ่านแกร็บ ยักษ์ใหญ่ไรด์เฮลลิ่ง ซึ่งส่วนหนึ่งจะโฟกัสที่การสร้างเครือข่ายการขนส่งด้วยรถไฟฟ้ารุ่นใหม่

ซอฟต์แบงก์ยังมีแผนสำรวจโอกาสในการลงทุนในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า แบตเตอรี่ และพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ในแดนอิเหนา โดยมาซาโยชิ ซัน ประธานกรรมการซอฟต์แบงก์ ให้สัมภาษณ์ว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์นั้น มีศักยภาพสูงมาก และเขาดีใจที่ได้ลงทุนในอนาคตของอินโดนีเซียผ่านแกร็บ
ทางฝ่ายแกร็บเองก็เพิ่งประกาศแผนสร้างสำนักงานใหญ่แห่งที่สองในแดนอิเหนาเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา โดยจะเป็นที่ตั้งศูนย์ออกแบบและพัฒนา

อุปสรรคดักหน้า

เป้าหมายในการเป็นฮับอีวีของอินโดนีเซียในด้านหนึ่งนั้นดูเหมือนไม่ไกลเกินเอื้อม จากข้อได้เปรียบมากมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่พัฒนาอย่างเต็มที่และถือว่า มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ในอาเซียนรองจากไทย แถมอินโดนีเซียยังเป็นตลาดรถใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้และมีศักยภาพในการเติบโตเหลือเฟือจากข้อเท็จจริงที่ว่า ขณะนี้ประชากรเพียง 8% เท่านั้นที่มีรถ

แต่ขณะเดียวกัน เป้าหมายดังกล่าวก็เต็มไปด้วยอุปสรรคให้แดนอิเหนาต้องฝ่าฟัน ยกตัวอย่างเช่นการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จรถไฟฟ้า ซึ่งหากยังมีเครือข่ายชาร์จอีวีไม่เพียงพอ การผลิตหรือการขายรถไฟฟ้าแบบมวลชนคงเกิดยาก

รายงานระบุว่า อินโดนีเซียมีสถานีชาร์จรถไฟฟ้า 1,500 แห่ง แต่ 1,100 แห่งในจำนวนนี้กระจุกอยู่ในกรุงจาการ์ตา

กล่าวโดยสรุปก็คือ แม้อินโดนีเซียมีความพิเศษจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์พัฒนาเต็มที่ มีความพร้อมและศักยภาพอย่างสมบูรณ์สำหรับการผลิตอีวีทั้งเพื่อใช้ในท้องถิ่นและส่งออกไปขายในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน แต่หากไร้มาตรการส่งเสริมอย่างจริงจังและต่อเนื่องจากรัฐบาล รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานในการชาร์จรถไฟฟ้าที่ครอบคลุม พัฒนาการอีวีของอินโดนีเซียอาจอืดอาดล่าช้าจนตามชาวโลกไม่ทัน



หนึ่งในปัญหาสำคัญคือการสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จอย่างทั่วถึงเพียงพอ
กำลังโหลดความคิดเห็น