xs
xsm
sm
md
lg

“แฟลช” ไล่เทกโอเวอร์เทียบชั้น “ซีพี” อัด 5 หมื่นล้านลุยโลจิสติกส์อาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ผู้จัดการรายวัน 360 - “แฟลช” ปักหมุดเทียบชั้น “ซีพี” ทุ่มทุนกว่า 50,000 ล้านบาท สร้างอาณาจักรโลจิสติกส์ ต่อจิ๊กซอว์จากไทยครอบคลุมอาเซียนใน 4 ปี ล่าสุดเดินหน้าต่อเนื่อง เตรียมเทกโอเวอร์อีก 4 บริษัทสู่การให้บริการอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจร เชื่อสิ้นปีนี้รายได้แตะ 12,000 ล้านบาท

นายคมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและพัสดุ เปิดเผยว่า แฟลชประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในการเข้ามาในธุรกิจให้บริการขนส่งที่ใช้เวลาเพียง 1 ปีจากปกติต้องใช้เวลา 10 ปี หลังเปิดตัวไปเมื่อ พ.ค. 2561 ซึ่งลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท สร้างเครือข่ายและให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ สู่เป้าหมายผู้นำให้บริการมากกว่าการขนส่งในระดับอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้า

“แผนลงทุนของแฟลชทั้งในไทยและในระดับอาเซียน เป็นสิ่งที่แฟลชกำลังเร่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเอง โดยมองตัวเองให้เหมือนซีพี นั่นหมายถึงเรากำลังเดินหน้าสร้างอาณาจักรโลจิสติกส์ขึ้นมาในระดับอาเซียน”

ล่าสุดได้ร่วมทุนกับนิ่มซี่เส็งโลจิสติกส์ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายใหญ่ในภาคเหนือ ทุ่มงบลงทุนกว่า 200 ล้านบาท ก่อตั้งบริษัท แฟลช โลจิสติกส์ จำกัด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์รูปแบบใหม่ รวมถึงรองรับการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียนในระยะยาว เป้าหมายสู่การเป็นผู้ให้บริการด้าน อี-คอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์แบบครบวงจร ตอบสนองตลาดผู้บริโภคยุค 4.0 ที่มีเติบโตรวดเร็ว



สำหรับการสร้างอาณาจักรโลจิสติกส์ครั้งนี้ รวมแล้วจะลงทุนไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. การลงทุนในไทย 1 ปีแรก ลงทุน 5,000 ล้านบาท ปี 2562 นี้น่าจะใช้อีกไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ทั้งการพัฒนาระบบ การขยายสาขา การเทกโอเวอร์อีก 4 บริษัทใหม่ ซึ่งแต่ละบริษัทน่าจะใช้เงินราว 1,000 ล้านบาท จากเดิมมีอยู่แล้ว 6 บริษัท เพื่อขยายการให้บริการธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน, ประกันภัย, การขนส่ง เป็นต้น
2. การลงทุนระดับอาเซียน 30,000-40,000 ล้านบาท ใน 4 ปีหลังจากนี้ ซึ่งกว่า 5,000 ล้านบาทจะใช้ในไทย และเฟสแรก 4 ประเทศอาเซียน คือ ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม เริ่มต้นจากบริการเอ็กซ์เพรส ตามด้วยโลจิสติกส์ภายใต้บริษัท แฟลช โลจิสติกส์ จำกัด ซึ่งการที่จะเกิดโลจิสติกส์แบบครบวงจรครบทั้ง 10 ประเทศนั้น อาจต้องใช้เวลา เพราะหลายประเทศยังไม่เอื้อ เช่น การเติบโตอี-คอมเมิร์ซบางประเทศยังน้อย ระบบการขนส่งยังไม่ดี ศาสนาและวัฒนธรรมมีผลต่อการลงทุนเช่นกัน

ทั้งนี้ยังไม่มีใครเก็บตัวเลขว่าทั้งอาเซียนตลาดอีคอมเมิร์ซมีมูลค่าเท่าไหร่ พบแต่เพียงว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซใหญ่สุด คือ สิงคโปร์ ไทย และอินโดนีเซีย ตามลำดับ และไทยมีอัตราการเติบโตมากที่สุด ส่วนตลาดรวมขนส่งของไทยแบ่งออกเป็น 1. ตลาดโลจิสติกส์น่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท และ 2. ตลาดเอ็กซ์เพรส เชื่อว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1แสนล้านบาทเช่นกัน แต่เติบโตมากกว่าโลจิสติกส์ โดยผู้นำตลาด คือ ไปรษณีย์ไทย, เคอรี่, แฟลช และDHL ตามลำดับ ซึ่งแฟลชเองมองว่าในปีหน้าจะอยู่ในระดับเดียวกับเคอรี่ได้ ซึ่งเชื่อว่าการแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น เพราะในปีหน้าจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา อีก 3 บริษัทใหญ่ จากจีน 2 บริษัท และอเมริกาอีก 1 บริษัท แต่สุดท้ายแล้วจะมีผู้เล่นเพียง 5 บริษัทก็เต็มที่กับตลาดนี้แล้ว

นายคมสันต์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มุ่งลงทุนในเรื่องการให้บริการที่ดีที่สุดเป็นหลัก ส่งผลให้เกิดภาวะขาดทุนสะสมหลายพันล้านบาท หรือมีภาวะขาดทุนอยู่ 300 ล้านต่อเดือน ส่วนจะกลับมาคุ้มทุนได้เมื่อไหร่นั้น คงต้องมองหลังจากลงทุนในอาเซียนเสร็จก่อน ขณะที่รายได้สิ้นปีนี้คาดว่าจะทำได้ 12,000 ล้านบาท มาจากบริการเอ็กซ์เพรส 90% และโลจิสติกส์ 10% จากปัจจุบันที่แฟลชมีความพร้อมคือ 1. มี 1,000 สาขาลงทุนเองทั้งหมด สิ้นปีตั้งเป้า 1,700 สาขา 2. พนักงานจาก 10,000 คนเพิ่มเป็น 20,000 คนในสิ้นปีนี้ 3. จำนวนสินค้าที่ส่งถึงสิ้นปีนี้รวมกว่า 40 ล้านชิ้นจาก 20 ล้านชิ้นปีที่แล้ว 4. รายได้ต่อเดือน 500 ล้านบาท สิ้นปีเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น