xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กฟูดเชนรุกเจาะตลาดแมส ปั้นแบรนด์ใหม่ลุยแฟรนไชส์เสริมทัพ “เซ็น-ฟู้ดแลนด์-ซีอาร์จี-ไมเนอร์”ออกรบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ผู้จัดการรายวัน 360 - ภาวะเศรษฐกิจยังไม่กระเตื้องนัก บิ๊กฟูดเชนของไทยปรับกลยุทธ์หันหัวเรือออกรบสมรภุมิตลาดแมส ปั้นแบรนด์ใหม่เสริมทัพเพียบ เจาะตลาดสตรีทฟูด พร้อมจ่อขายแฟรนไชส์

“มูลค่าตลาดร้านอาหารในไทยที่มีมูลค่าสูงไม่ต่ำกว่า 410,000 ล้านบาท และยังมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 3-5% ต่อปี โดยเฉพาะตลาดในเซกเมนต์ที่เป็นสตรีทฟูด หรือร้านอาหารริมทาง เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตอย่างมาก ในตลาดประเทศไทย” เป็นคำกล่าวของนายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี/CRG หนึ่งในเชนร้านอาหารรายใหญ่ของไทย

สอดคล้องกับข้อมูลของแอปพลิเคชันอาหารชื่อดังของไทยอย่าง “วงใน” (Wongnai) ที่ระบุไว้ว่า ในปี 2561 ประเทศไทยมีร้านอาหารที่เปิดใหม่ทั่วประเทศรวมมากกว่า 34,000 ร้านค้า เพิ่มขึ้นถึง 9% จากปี 2560 และยังสูงขึ้นกว่าช่วงปี 2560 ที่เติบโต 8% และปี 2559 ที่โตเพียง 5% ด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าร้านอาหารตามสั่งที่เปิดใหม่ช่วงปี 2560 จะมีจำนวนลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง แต่ก็กลับมาฟื้นตัวเพิ่มขึ้นในปี 2561 ที่มีร้านอาหารเปิดใหม่ 2,500 กว่าร้านค้า เริ่มมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิม คิดเป็น 75.4% ส่งผลให้ตัวเลขร้านอาหารที่เปิดใหม่ใกล้เคียงกับปี 2558-2559

โดยข้อมูลระบุว่า ร้านสตรีทฟูดเป็นกลุ่มที่เติบโตมากในประเทศไทย ซึ่งปี 2561 มีร้านสตรีทฟูดเปิดใหม่จำนวน 2,500 กว่า ร้านค้า คิดเป็นอัตราการเติบโตจากปี 2560 ถึง 122%

จะเห็นได้ว่าทั้งมูลค่าและแนวโน้มของธุรกิจร้านอาหารในไทยยังมีโอกาสและเป็นธุรกิจหลักที่น่าสนใจไม่น้อย
ทว่าหากมองลึกลงไปแล้ว ร้านอาหารแบบสตรีทฟูด หรือร้านอาหารแบบทั่วไป ที่เจาะตลาดกลุ่มแมสนั้น เป็นกลุ่มที่น่าสนใจไม่น้อย ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีเช่นนี้แล้วยิ่งมองข้ามไม่ได้ ถึงขนาดที่ว่าเชนผู้ประกอบการอาหารรายใหญ่ ทุนหนา หลายค่ายของไทยก็สนใจกระโดดเข้าสู่สมรภูมินี้ ไม่ว่าจะเป็นค่ายซีอาร์จีในเครือเซ็นทรัล ค่ายไมเนอร์ ค่ายฟู้ดแลนด์ ค่ายเซ็นกรุ๊ป เป็นต้น


“เซ็นกรุ๊ป” ขายแฟรนไชส์ร้านเขียงเจาะ ปตท.


นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ปจำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร (Food Services) เปิดเผยว่า นโยบายและทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ จะขยายธุรกิจในกลุ่มร้านอาหารแบรนด์ที่เจาะตลาดระดับกลางและล่างมากขึ้น เพื่อรองรับกับตลาดกลุ่มแมสที่เป็นตลาดใหญ่ ในภาวะที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังไม่ค่อยดีนัก บริษัทจึงได้ขยายตลาดกลุ่มนี้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ตลาดกลางถึงบนอีกหลายแบรนด์ที่เราทำตลาดอยู่ก็ยังขยายต่อเนื่อง เช่น อากะ ออนเดอะเทเบิล เป็นต้น

โดยแนวทางจะมีทั้งการพัฒนาแบรนด์ขึ้นมาเองและการซื้อธุรกิจจากแบรนด์เดิมในตลาด และจะขยายสาขาทั้งตลาดในกรุงเทพ และต่างจังหวัด และต่างประเทศด้วย โดยมีทั้งรูปแบบแฟรนไชส์ และการขยายสาขาเอง อย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีร้านอาหารในเครือรวมประมาณ 12 แบรนด์ เช่น เซน ออนเดอะเทเบิ้ล ตำมั่ว เป็นต้น และเพิ่งเปิดตัวแบรนด์ใหม่ขึ้นมาคือ มูฉะ เป็นอาหารญี่ปุ่นแบบข้าวหน้าต่างๆ และแบรนด์ ร้าน ‘เขียง’ (Khiang by tummour) เป็นร้านอาหารไทยตามสั่ง แบรนด์ตำมั่วเอ็กซ์เพรส ในเครือเซ็นขณะนี้จึงมีรวมทั้งหมด 12 แบรนด์หลัก รวมสาขามากกว่า 255 สาขาแล้ว เมื่อสิ้นปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 นี้ บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนรวมไว้ที่ 230 ล้านบาท ในการขยายสาขาและการพัฒนาระบบต่างๆ โดยวางเป้าหมายที่จะเปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก 123 สาขา โดยมีทำเลและพื้นที่รองรับไว้แล้ว รวมมากกว่าปีที่แล้วที่เปิดเพียง 40 สาขาถึง 3 เท่าตัว

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2562 นี้จนถึงกลางปีนี้ คาดว่าจะเปิดสาขาใหม่ได้รวม 30 สาขา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ “เขียง” มากถึง 12 สาขา ที่เปิดในทำเลต่างๆ เช่น ในปั๊ม ปตท.หรือ PTT Station, คอมมูนิตี้มอลล์, ฟู้ดคอร์ท ฯลฯ ซึ่งเป็นแบรนด์ใหม่ที่ได้รับการตอบรับอย่างดี

โดยร้านเขียง เป็นหนึ่งในหลายแบรนด์ที่บริษัทฯ จะชูเป็นหัวหอกในการขายแฟรนไชส์และรุกตลาดแมส เช่นเดียวกับแบรนด์ตำมั่วเอ็กซ์เพรส แบรนด์มูฉะที่เป็นข้าวหน้าต่างๆ สไตล์ญี่ปุ่น เป็นต้น ที่จะนำมาขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์เป็นหลัก เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายระดับกลางลงล่างตามย่านชุมชนต่างๆ เพราะเป็นร้านอาหารแนวสตรีทฟูด

ที่ผ่านมาตั้งแต่การเปิดร้านเขียงทดลองบริการตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว พบว่าได้รับการตอบรับอย่างดี สาขาส่วนใหญ่สามารถทำยอดขายต่อเดือนประมาณ 4-4.5 แสนบาทาต่อเดือนต่อสาขา สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3 แสนบาทต่อเดือนจ่อสาขา จากยอดใช้จ่ายของลูกค้าเฉลี่ย 120-150 บาทต่อคนต่อครั้ง

บทรุกขยายจึงเร็วขึ้น เพราะเตรียมที่จะเปิดให้บริการในทำเลใหม่ๆ เพิ่มเติมอีก เช่น ภายในเมโทรมอลล์ พื้นที่ค้าปลีกในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ซึ่งจะเปิดควบคู่กับร้านตำมั่วเอ็กซ์เพรสที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเพชรบุรีในเดือนสิงหาคมนี้, พื้นที่แบบสแตนด์อะโลน และตึกแถวอีกด้วย เป็นต้น

แผนการขยายสาขาของบริษัทฯ ในแบรนด์ต่างๆ ที่ต้องการเจาะตลาดแมสแบบสตรีทฟูดนี้ ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ ปตท. ซึ่งมีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station กว่า 1,700 แห่งทั่วประเทศ โดยมี ปตท.ให้การสนับสนุนพื้นที่เช่าภายใน PTT Station แก่บริษัทฯ เพื่อเปิดร้านอาหาร ปัจจุบันมีพื้นที่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดพร้อมรองรับการขยายสาขาในครึ่งปีหลังแล้วกว่า 70 แห่ง

แน่นอนว่า แบรนด์ “เขียง” ย่อมเป็นร้านหัวหอกหลัก โดยทำเลส่วนหนึ่งจะใช้เพื่อขยายร้าน ‘เขียง’ ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยตามสั่งแนวสตรีทฟูดที่มีจุดขายด้านรสชาติอาหารที่จัดจ้านในราคาย่อมเยา เจาะกลุ่มลูกค้าทั่วไปเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ไม่มีเวลาทำอาหารรับประทานเอง โดยมีแนวคิดพัฒนาร้านเขียงเป็นเสมือน ‘ครัวของชุมชน’ แก่ผู้พักอาศัยในพื้นที่โดยรอบ และจะใช้โมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ในการขยายสาขาทั่วประเทศ รวมถึงขยายการให้บริการจัดเลี้ยง (Catering) และบริการเดลิเวอรีภายใต้แบรนด์เขียงอีกด้วย

ล่าสุดได้นำแบรนด์ร้านเขียง เข้าร่วมออกบูทในงาน ‘มหกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ’ ครั้งที่ 31 วันที่ 13-16 มิถุนายนนี้ ณ บีซีซี ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว ซึ่งเป็นงานมหกรรมเจรจาธุรกิจแฟรนไชส์สำหรับผู้ที่สนใจหรือต้องการเริ่มต้นเป็นเจ้าของกิจการ โดยไฮไลต์ภายในงานจะนำพื้นที่เช่าภายใน PTT Station และพื้นที่อื่นๆ มานำเสนอแก่ผู้ที่สนใจซื้อแฟรนไชส์ร้าน ‘เขียง’

รวมทั้งการนำเสนอโปรโมชันพิเศษแก่ผู้จองสิทธิ์แฟรนไชส์ในงาน โดยคิดค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Entrance Fee) พิเศษที่ 3.5 แสนบาท (ปกติ 4 แสนบาท) และคิดค่าธรรมเนียมรายเดือน (Loyalty Fee) อัตราคงที่เดือนละ 12,500 บาท จากปกติคิดจากส่วนแบ่งรายได้ต่อเดือน นอกจากนี้ยังร่วมมือเป็นพันธมิตรกับธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ ปล่อยสินเชื่อธุรกิจวงเงิน 100% แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์

นางยุพาพรรณ เอกสิทธิกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินและบัญชี ZEN กล่าวว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้ประมาณ 3,600 ล้านบาท ในปีนี้เติบโต 15-20% และตั้งงบลงทุนกว่า 230 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจตามแผนงานที่วางไว้ โดยหลังจากบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ทำให้ ZEN มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนและต้นทุนทางการเงินลดลง รวมถึงมีความพร้อมในการขยายธุรกิจอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายปรับเพิ่มเป้าหมายรายได้จากบริการเดลิเวอรีในปีนี้เป็น 100 ล้านบาทหลังจากมีกระแสตอบรับที่ดี ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถการทำกำไรให้ดีขึ้น เนื่องจากสามารถแชร์ต้นทุนด้านบุคลากรร่วมกับสาขาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันได้มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพบริหารต้นทุนและควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) เพื่อเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นอีกด้วย

“ฟู้ดแลนด์” แยกร้าน “ถูกและดี” ฉายเดี่ยว

นายอธิพล ตีระสงกรานต์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด ผู้บริหารร้านฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารถูกและดี เปิดเผยว่า บริษัทฯมองว่าธุรกิจทั้งฟู้ดแลนด์กับถูกและดี มีโอกาสในการเติบโตและมีศักยภาพเพียงพอที่จะขยายตัวได้มากกว่านี้ในอนาคต

ทั้งนี้จึงมีแนวทางที่จะแยกร้านอาหารถูกและดีออกมาจากฟู้ดแลนด์ด้วย เพื่อเปิดบริการต่างหากแบบสแตนด์อโลนควบคู่กับการเปิดในฟู้ดแลนด์เดิมด้วย จากปัจจุบันฟู้ดแลนด์มีสาขารวม 23 แห่ง ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นหลัก ต่างจังหวัดเช่น โคราชและพัทยา โดยมีร้านอาหารถูกและดีเปิดครบทุกสาขาเช่นกัน

ส่วนปี 2562 มีแผนที่จะเปิดฟู้ดแลนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตอีก 2 สาขา ซึ่งล่าสุดเปิดสาขาที่ 24 แล้วที่ แอทยูปาร์คสุวรรณภูมิ ถนนบางนา-ตราด กม.12 พื้นที่ 2,000 ตารางเมตร ลงทุน 70 ล้านบาท ส่วนอีกสาขาคือที่สุขาภิบาล1จะเปิดเร็วๆ นี้ ด้วยงบลงทุนรวมปีนี้ 500 ล้านบาททั้งการลงทุนสาขา การปรับปรุง การทำระบบ การตลาด

อย่างไรก็ตาม แผนการแยกร้านถูกและดีออกมาต่างหากนั้น คาดว่าจะเริ่มเปิดสาขาแรกในไทยได้ประมาณต้นปีหน้า (2563) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาถึงรายละเอียดต่างๆ แนวทางหลักจะเปิดถูกและดีในทำเลต่างๆ ที่ถึงผู้บริโภคได้ง่ายและสะดวกและมีประชากรหนาแน่น เช่น คอนโดมิเนียม โรงพยาบาล ย่านชุมชนต่างๆ เบื้องต้นนี้จะเปิดใกล้กับฟู้ดแลนด์ซูเปอร์มาร์เกตก่อน เพื่อสะดวกต่อการจัดส่งและบริหารวัตถุดิบที่ต้องการใช้วัตถุดิบสดมีคุณภาพจากฟู้ดแลนด์ จับกลุ่มเป้าหมายระดับกลาง ราคาเฉลี่ย 100 บาทขึ้นไป จะเน้นเมนูจานเดี่ยวและเมนูเบสิก

ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้งบลงทุนไม่ต่ำว่กา 10 ล้านบาทต่อสาขา พื้นที่ประมาณ 150-200 ตารางเมตร และตั้งเป้าควรมีรายได้เฉลี่ย 80,000-100,000 บาทต่อสาขาต่อวัน

แนวทางการขยายสาขาจะเป็นการลงทุนเอง ส่วนจะขายแฟรนไชส์หรือไม่นั้นมีแนวโน้มเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารถูกและดีแบบสแตนด์อะโลน ได้เปิดบริการสาขาแรกในต่างประเทศก่อนแล้ว คือที่สิงคโปร์ เมื่อปลายปีที่แล้ง โดยพันธมิตรคือกลุ่มเฮอร์ซิ่ง สิงคโปร์ เป็นผู้ได้รับอนุญาตินำชื่อถูกและดีไปเปิดสาขาแรกที่ย่านไทเสงซึ่งเป็นย่านโรงงานอุตสาหกรรม เพราะจับกลุ่มตจลาดแมส โดยเป็นการลงทุนของกลุ่มเฮอร์ซิ่งเอง ส่วนสาขาที่สองเตรียมที่จะเปิดเร็วๆ นี้ กลุ่มเฮอร์ซิ่งนี้คือกลุ่มที่เป็นเจ้าของร้านข้าวหน้าไก่ซีอิ๊วฮอคเกอร์ชานที่ทางกลุ่มฟู้ดแลนด์ได้ร่วมลงทุนด้วยในไทยเปิดสาขาแรกที่เทอร์มินัล 21 อโศก

การแยกร้านอาหารถูกและดี ออกมาเป็นแบบสแตนด์อะโลนนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้รายได้รวมเติบโตมากขึ้น โดยปี 2562 นี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายยอดขายรวมของฟู้ดแลน์ซูเปอร์มาร์เกตไว้ที่ 6,200 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้วที่ทำได้ 5,800 ล้านบาท ส่วนร้านอาหารถูกและดี จะมีรายได้ประมาณ 700 ล้านบาทเพิ่มจากปีที่แล้วที่มียอดขาย 600 ล้านบาท

“ซีอาร์จี” ปั้นร้านอร่อยดีเสริมทัพเจาะแมส

อีกค่ายหนึ่งที่เป็นบิ๊กเชนของวงการ คือ ซีอาร์จี ซึ่งปีนี้รุกหนักมาก เปิดแบรนด์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาเองถึง 2 แบรนด์รวดเดียวและเปิดตัวไปแล้วคือ ร้านอร่อยดี เป็นร้านอาหารตามสั่งแบบสตรีทฟู้ด และร้านสุกี้นัมเบอร์วัน

นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี/CRG กล่าวว่า ส่วนใหญ่ธุรกิจที่ซีอาร์จีทำอยู่นั้น มักจะเป็นแบรนด์ที่ซื้อไลเซ่นส์มาจากต่างประเทศเป็นอาหารต่างชาติแนวญี่ป่นเป็นหลัก แต่เราต้องการที่จะขยายตลาดให้ครอบคลุมและกว้างมาสกขึ้น ซึ่งเรายังขาดคือ อาหารไทย

นี่คือที่มาของการปั้นแบรนด์ “ร้านอร่อยดี” ซึ่งนอกจากเป็นการขยายกลุ่มอาหารแล้ว ยังขยายกลุ่มตลาดแมสด้วย
“คอนเซ็ปท์ของร้านอร่อยดี คือ เราต้องการที่จะขายอาหารไทยที่ทานง่ายๆเมนูเบสิคในชีวิตประจำวันและเป็นร้านที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ด้วยราคาที่ไม่แพง รสชาติอร่อย มีคุณภาพ เช่น ข้าวผัด กะเพราราดข้าว เป็นต้น วางราคาเริ่มต้นถุกที่สุดที่ 59 บาท ซึ้งก้ไม่ต่งกับร้าช้างทาใด แต่อาจจะมีบางเมนูที่ราคาสูงกว่าบ้าง เฉลี่ย 70-100 บาท” นายณัฐ กล่าว

ขณะนี้ซีอาร์จี เปิดร้านอร่อยดีไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3 สาขา คือที่ ที่สีลมซอย 32, ปั้ม ปตท. สายไหม และ ไทวัสดุ บางนาซึ่งเป็นการลงทุนเองทังหมด และวางแผนไว้ภายในปีนี้จะต้องเปิดร้านอร่อยดีให้ได้ครบ 10 สาขา และมีแผนทีจะเปิดขายแฟรนไชส์ในอนาคตด้วย เพื่อให้ร้านอร่อยดี เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคระดับล่าง

“ภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ค่อนข้างชะลอตัว กำลังซื้อผู้บริโภคน้อยลง ทำให้ธุรกิจร้านอาหารแข่งขันรุนแรง ขณะเดียวกันกลุ่มเชนร้านอาหารรายใหญ่ๆก็ต้องปรับตัว และแนวทางหนึ่งก็คือ การหันมาขยายและเจาะตลาดแมสเสริมทัพการทำตลาด แม้ว่าในตลาดเดิมของเราจะยังเติบโตดีอยู่ เช่น กลุ่มอาหารญี่ปุ่นของเราเฉลี่ยโตถึง 29% และมีรายได้รวมมากกว่า 1,000 ล้านบาทไปแล้ว เช่น โอโตยะ คัตสึยะ โยชิโยย่า เทนยะ เป็นต้น “ นายณัฐกล่าว

โดยปีนี้กลุ่มซีอาร์จีคาดหวังรายได้รวมประมาณ 13,400 ล้านบาท เติบโตมากกว่า 12% จากปี 2561 ที่เติบโตประมาณ 10% ที่มีรายได้รวม 12,000 ล้านบาท และตั้งเป้าซีอาร์จีจะมีสัดส่วนตลาดเพิ่มจากปีที่แล้ว 5% เป็น 9% ของตลาดรวมในเซกเมนต์ร้านอาหารเครือข่ายหรือ Food Chain ที่มีมูลค่ามากกว่า 140,000 ล้านบาท

“ไมเนอร์” ชูธงไทยเอ็กซ์เพรส

ด้านไมเนอร์ ก็เป็นค่ายที่มีร้านอาหารในเครือมากมายและติดตลาดจำนวนมาก และล้วนแต่เป็นผู้นำตลาดหลายแบรนด์ ก็ยังต้องปรับเกมหันมาลุยขยายฐานตลาดระดับแมสเช่นกัน ด้วยการใช้ร้านไทยเอ็กซ์เพรสมาเป็นหัวหอกหลักในการรุกเจาะตลาดแมสครั้งนี้ โดยจะใช้แบรนด์นี้ขยายไปตามช่องทางคาปลีกเหรือยานชุมชนต่างๆ เช่น ที่เปิดในโลตัสพลัสศรีนครินทร์ ในแผนกอาหารสด จำหน่ายเมนูทั่วไป ราคาเริ่มที่ 59 บาท

นี่คือความเคลื่อนไหวของบิ๊กฟูดเชนของไทย ในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ค่อยฟื้นตัวดีเท่าที่ควรนัก กับการกระโดดเข้าสู่สมรภมิใหม่ที่เป็นตลาดระดับแมส หรือสตรีทฟูด ถือเป็นความใหม่ที่ท้าทายที่ต้องจับตาดู ว่าบิ๊กฟูดเชนเหล่านี้จะสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด
กำลังโหลดความคิดเห็น