xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแล้ว! "ทรู ดิจิทัล พาร์ค" แหล่งปั้นสตาร์ทอัพ หวังคุ้มทุนภายใน 5 ปี

เผยแพร่:


ทรู ดิจิทัล พาร์ค หวังปั้นยูนิคอร์นด้วยพื้นที่ทำงานครบวงจรใหญ่ที่สุดในอาเซียน พร้อมติดปีกสตาร์ทอัปให้เติบโตแข็งแกร่งและยั่งยืนด้วยระบบนิเวศหรืออีโคซิสเต็มครบวงจร รวมทุกอย่างให้สตาร์ทอัปไม่ต้องเดินทางทั้งบริษัทด้านความรู้, เทคโนโลยี, ดิจิทัลแพลตฟอร์ม, แหล่งเงินทุน และการต่อยอดด้านอื่น ชูจุดขายเรื่องคอนเนคชันที่ทุกสตาร์ทอัปจะมีโอกาสมากกว่าเมื่อเทียบกับ Work Space ค่ายอื่น หวังคุ้มทุนให้เร็วที่สุด คาดว่าจะเร็วกว่า 5-7 ปีตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ด้านสำนักงาน

นายฐนสรณ์ ใจดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค มั่นใจว่า ทรู ดิจิทัล พาร์ค เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยยืนยันว่าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการให้เช่าพื้นที่ทำงานร่วมกันหรือ Co Working Space เท่านั้น เนื่องจากการมาเช่าเป็นสมาชิกจะไม่ได้รับแค่โต๊ะเก้าอี้ แต่สามารถคุยกับพันธมิตร เข้าฟังการอบรมฟรีได้ การใช้พื้นที่เปิดเพื่อให้คนที่มีความคิดคล้ายกันสามารถรู้จักและเชื่อมต่อกันในสถานที่เดียวกัน

“ทรู ดิจิทัล พาร์คใช้พื้นที่เต็ม 100% เพราะเราไม่ได้สร้างออฟฟิศ ถ้าออฟฟิศต้องใช้แค่ 85% แต่เราใช้ประโยชน์ทั้งหมด นโยบายที่เราวาดมาตั้งแต่ต้นคือการสร้าง connected environment คือทุกที่เดินต่อกันได้ เพื่อให้คนปฏิสัมพันธ์ร่วมกันได้ทั้งหมด”

การใช้พื้นที่ 100% ที่ฐนสรณ์กล่าวถึง แบ่งออกเป็น 4 ส่วนได้แก่ 1. ส่วน Co-Working Space ซึ่งรองรับให้สตาร์ทอัปที่มีผู้ก่อตั้ง 1-2 คน สามารถเข้ามาในระบบได้ พื้นที่นี้คิดเป็น 35% ของทั้งหมด 2. Office Space สตาร์ทอัปที่โตขึ้นสามารถใช้พื้นที่ห้องประชุมและจัดกิจกรรม พื้นที่นี้คิดเป็น 40% ของพื้นที่รวม 3. ส่วน Innovation Space พันธมิตรพาร์ทเนอร์ของโครงการจะมีพื้นที่ในส่วนนี้ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับสตาร์ทอัปคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เยาวชนมีอาชีพ และนำเทคโนโลยีไปใช้ได้จริง คิดเป็นสัดส่วน 15% ของพื้นที่ และ 4. ส่วน Event พื้นที่จัดงานใหญ่ที่กินพื้นที่ 10% จากทั้งหมด 43 ไร่

“มีผู้เช่า Office space เกิน 90% แล้ว คาดว่าจะเต็ม 100% ในเร็วๆนี้ ได้รับการตอบรับอย่างดี“ ฐนสรณ์ให้ข้อมูล “พาร์ทเนอร์ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ connected economy มีมากกว่า 100 บริษัทแล้ว”

ในช่วง 2 เดือนหลังสงกรานต์ ทรูให้ข้อมูลว่ามีผู้เข้ามาในชายคาทรูดิจิทัลพาร์กแล้วมากกว่า 8,500 คน โดยทุกวันจะมีการจัดทัวร์เป็นรอบให้ผู้สนใจทั้งภาคเอกชนและรัฐ มีมหาวิทยาลัย 30 แห่งเข้าร่วมทัวร์แล้ว บางแห่งเป็นมหาวิทยาลัยจากสหรัฐอเมริกา และสเปน กำลังจะมีสถาบันการศึกษาจากเวียดนามและอีกหลายประเทศ

“คนที่มาที่แม้จะหลากหลาย แต่ก็เป็นคนประเภทเดียวกัน ทุกคนจำเป็นจะต้องคุยกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้นเพื่อสร้างสิ่งใหม่ ทุกวันเราจึงมีกิจกรรมเสมอ ทั้งในด้านการทำงาน และไลฟ์สไตล์ ทั้งเรื่องมุมมองการทำงาน ที่จะทำให้เห็นมุมต่อยอดธุรกิจใหม่ และเรื่องส่วนตัวเช่นโยคะ กิน ดื่ม ซึ่งเราจัดอีเวนท์แบบนี้มาแล้วนับ 100 ครั้งในช่วง 2 เดือน จำนวนคนที่เข้ามาทุกวันคือ 2,000 ราย มีสตาร์ทอัปรวม 40 บริษัทแล้ว คาดว่าจะเพิ่มอีก 2-3 เท่าในไม่นาน”

คุ้มทุนเร็วที่สุด

รายได้ที่ทรูจะรับจากโครงการนี้คือค่าบริการสมาชิกที่บุคลากรของสตาร์ทอัปทุกคนที่ต้องการเข้ามาร่วมในอีโคซิสเต็มราว 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน ยังมีค่าเช่าสำนักงานราว 1,300-1,500 บาทต่อตารางเมตร รวมถึงค่าเช่าพื้นที่ห้องประชุม ห้องจัดอีเวนท์และอบรมทั้งเล็กและใหญ่ ซึ่งทรูคาดว่าจะคุ้มทุนได้เร็วกว่า 5-7 ปีตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ด้านสำนักงาน

ความมั่นใจว่าจะคุ้มทุนได้เร็วเกิดขึ้นจากสิ่งที่ทรูคิดคือทรูไม่ได้สร้างเฉพาะแพลตฟอร์มที่เป็นสิ่งของและสถานที่ แต่พยายามเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ จุดนี้ผู้บริหารย้ำว่าไม่ให้เอื้อให้คนกลุ่มนี้ “ขี้เกียจ” แต่ต้องการให้ความรู้ เพื่อให้สตาร์ทอัปเติบโตได้

ปัจจุบัน ข้อมูลจากบริษัท VC พบว่าปัญหาความไม่พร้อมรอบด้านทำให้สตาร์ทอัปส่วนใหญ่ไม่ได้รับความสนใจจาก VC สถิติในไทยขณะนี้คือการพูดคุยกับสตาร์ทอัป 50-100 รายจึงจะมีการลงทุนจริงในสตาร์ทอัป 1 ราย โดยที่สัดส่วนสตาร์ทอัปที่ล้มเหลววันนี้มีกว่า 97% ของทั้งหมด

เฟส 2 เริ่ม 2 ปีนับจากนี้

ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ ระบบทุกอย่างภายในทรูดิจิทัลพาร์คจะพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบ เช่น ระบบวิเคราะห์ใบหน้าที่จะติดตั้งไว้ที่ทางเข้าออกพื้นที่สำหรับสมาชิกที่จะพร้อมใช้จริงต้นกรกฎาคมนี้ ขณะที่เฟส 2 ของโครงการคาดว่าจะเริ่มต้นอีก 2 ปีนับจากนี้


ผู้บริหารย้ำว่าเฟส 2 จะเป็นการต่อยอดจากการเรียนรู้ความชอบและไม่ชอบของผู้ใช้บริการ ตัวอย่างความไม่ชอบที่พบในช่วง 2 เดือนคือความโล่งเกินไปของห้องประชุมและกาแฟซองที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้ทรูแก้ปัญหาด้วยการติดสติกเกอร์ห้องประชุมเพิ่มเติม และเปลี่ยนเป็นโหลกาแฟสำหรับตักตามต้องการ โดยทรูดิจิทัลพาร์คเริ่มเปิดอาคารให้บุคคลเข้ามาใช้สถานที่ตั้งแต่หลังสงกรานต์เมษายน 62

ทรูดิจิทัลพาร์คมีศักยภาพรองรับสมาชิกมานั่งทำงานภายในโครงการได้รวม 600 ราย ขณะนี้โครงการเป็นที่สนใจของบริษัทต่างชาติมากแต่ยังไม่มีการรวมสถิติผู้ใช้ต่างชาติในทรูดิจิทัลพาร์คอย่างแน่ชัด คาดว่าอยู่ในระดับหลักร้อยราย

งบประมาณสำหรับการพัฒนาโครงการทรูดิจิทัลพาร์คตลอด 2 ปีคือ 500-700 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่คนที่เป็นสตาร์ทอัปแล้วเท่านั้น แต่รวมถึงทุกคนที่อยากเป็นสตาร์ทอัป ทั้งกลุ่มบริษัทต่างชาติที่ต้องการหาโลคอลพาร์ทเนอร์เพื่อเจาะตลาดไทย และสตาร์ทอัปท้องถิ่นที่ต้องการโอกาสไปเจาะในตลาดต่างชาติ

ยังหวังซิลิกอนวัลเลย์ไทย

เป้าหมายของทรูดิจิทัลพาร์คยังอยู่ที่การเป็นซิลิกอนวัลเลย์เมืองไทย แม้จะไม่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยจนนักศึกษาสามารถขี่จักรยานถึง แต่ผู้บริหารเชื่อว่ารถไฟฟ้าจะอำนวยความสะดวกให้การเดินทางของมิลเลเนียลและคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกัน ทรูก็พยายามประสานความร่วมมือเพื่อให้เข้าถึงมหาวิทยาลัย ด้วยการทำตลาดว่าเป็นระบบอีโคซิสเต็มที่มีทรัพยากรครบวงจร

หากคำนวณตามพื้นที่ตารางเมตร ทรูดิจิทัลพาร์คจะรองรับทราฟฟิกการใช้บริการเต็มที่มากกว่า 4,500-5,000 ราย แต่ทราฟฟิกการลงทุนและการเจรจาธุรกิจนั้นไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากผู้เดินทางเข้ามาสามารถพบปะหลายบริษัทได้ในคราวเดียว ยังมีบริษัทนักลงทุนอีกมากกว่า 10 รายที่มีเครือข่ายการลงทุนมูลค่าหลายร้อยล้านบาท


อย่างไรก็ตาม ทรูมีพันธมิตรเป็นผู้ให้บริการ Co-Working Space อย่าง WeWork ซึ่งทรูมั่นใจว่าจะไม่ซ้ำซ้อนกัน โดย WeWork ดำเนินการเช่าพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร

ผู้บริหารมั่นใจว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะธุรกิจให้เช่าพื้นที่ร่วมทำงานหรือ Co Working Space ล้นตลาด เนื่องจากบริษัทตั้งใจสร้างจุดขายด้านอีโคซิสเต็มครบวงจร ยอมรับว่าปัจจัยบวกที่จะทำให้โครงการนี้สำเร็จยิ่งขึ้นคือการสนับสนุนของภาครัฐ ที่ยังต้องการผลักดันโครงการไทยแลนด์ 4.0 นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่รัฐ แต่องค์กรยังต้องพยายามหาความรู้เพื่อเลี่ยงการถูก disruption ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่ธนาคารกรุงไทย และซีพีที่จับมือกับ Ant Financial เพื่อปรับตัว

ช้าดีกว่าไม่เริ่ม

เมื่อถามว่าช้าเกินไปหรือไม่สำหรับโครงการนี้ ผู้บริหารย้ำว่าหากไม่เริ่มก็จะไม่ได้ทำ ปัจจุบัน โครงการมีสตาร์ทอัปเข้าร่วมตั้งสำนักงานแล้วกว่า 40 บริษัท หากรวมพันธมิตรจะคิดเป็นมากกว่า 100 บริษัท ประกอบด้วยบริษัทด้านหุ่นยนต์, Content และการเงิน ซึ่งบางส่วนอยากได้สิ่งแวดล้อมใหม่ เพื่อต่อยอดธุรกิจในตลาดสตาร์ทอัป

ในภาพรวม ทรูเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นภาพลักษณ์ที่บ่งบอกต่างชาติว่าวันนี้ประเทศไทยเอาจริงแล้วเรื่องสตาร์ทอัป เนื่องจากโครงการนี้เป็นความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนไทย

สำหรับ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท 101 สถานีบีทีเอสปุณณวิถี องค์กรชั้นนำระดับโลกที่มาร่วมเติมความครบวงจรได้แก่ NIA, DEPA, ETDA, ACE Singapore, KMITL, Google, AWS, Huawei, Ricoh, UOB, Wongnai, MuSpace, Thailand e-Center (TeC), CP Innovation และ True Digital Academy เบื้องต้นมีการเตรียมแผนการขยาย ทรู ดิจิทัล พาร์ค ในอนาคตว่าจะไม่ใช่การเพิ่มสาขา แต่จะเป็นการขยายพื้นที่ออกไปให้กว้างกว่าเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น