xs
xsm
sm
md
lg

วีซ่าควงไลน์เชื่อมเครือข่ายผู้ใช้-ร้านค้าทั่วโลก

เผยแพร่:


ไลน์ เพย์ขยายความร่วมมือกับวีซ่า สร้างบริการฟินเทคใหม่สำหรับผู้ใช้และร้านค้าทั่วโลก และร่วมกันพัฒนาแพล็ตฟอร์มบล็อกเชนเพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินแบบ B2B การชำระเงินข้ามพรมแดน และการทำธุรกรรมด้วยเงินดิจิตอล สุดท้ายคือการทำแคมเปญการตลาดส่งเสริมสังคมไร้เงินสดในญี่ปุ่นก่อนที่โตเกียวจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปีหน้า

ไลน์ เพย์ บริษัทฟินเทคในเครือไลน์ เซ็นสัญญาขยายความร่วมมือกับวีซ่า สร้างบริการฟินเทคใหม่สำหรับทั้งผู้ใช้และผู้ค้านับล้านรายทั่วโลก ด้วยการประสาน “ประสบการณ์นวัตกรรมการเงิน” ในส่วนการชำระเงินและการโอนเงินทั่วโลก รวมถึงบล็อกเชน

แพล็ตฟอร์มบล็อกเชนที่ไลน์ เพย์จะร่วมดำเนินการกับวีซ่าจะอำนวยความสะดวกในการชำระเงินแบบ B2B การชำระเงินข้ามพรมแดน ตลอดจนถึงการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินทางเลือก

และด้วยความที่ปีที่แล้ว ไลน์เปิดตัวตลาดซื้อขายคริปโต “บิตบ็อกซ์” จึงทำให้หลายคนคาดเดาว่า ไลน์อาจเตรียมให้บริการชำระเงินด้วยคริปโตในไลน์ เพย์เร็วๆ นี้

นอกจากบล็อกเชนแล้ว ผู้ใช้ไลน์ 187 ล้านคนทั่วโลกยังสามารถใช้บัตรเติมเงินดิจิตอลของวีซ่าที่อยู่ในแอป รวมทั้งใช้ไลน์ เพย์ชำระเงินในร้านค้า 54 ล้านแห่งทั่วโลกที่เป็นพันธมิตรกับวีซ่า ดูธุรกรรมของตัวเองในแอปไลน์ เพย์แม้ในพื้นที่ที่ไลน์ เพย์ไม่ได้เปิดให้บริการ และเพิ่มบัตรที่มีอยู่เพื่อชำระเงินจากมือถือและระบบดิจิตอลในต่างประเทศ รวมโปรแกรมรอยัลตี้ สิทธิประโยชน์ของนักเดินทาง และข้อเสนอพิเศษต่างๆ ของวีซ่าไว้ในไลน์ เพย์

ปัจจุบัน แม้ไลน์ เพย์อนุญาตให้เพิ่มบัตรวีซ่าในแอป แต่ก็ใช้ได้กับร้านค้าที่ยอมรับไลน์ เพย์เท่านั้นซึ่งไม่ได้มีในทุกประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงล่าสุดช่วยให้ขอบข่ายการใช้บริการของผู้ใช้ไลน์ เพย์ขยายออกไปทั่วโลก และยังเท่ากับว่า ไลน์และวีซ่ากำลังร่วมกันชิงส่วนแบ่งตลาดจากแอปเปิล เพย์ หรือกูเกิล เพย์ เนื่องจากสองระบบนี้ยังใช้ได้กับร้านค้าที่เป็นพันธมิตรเท่านั้น

อนึ่ง นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ในเอเชียยังมีผู้ใช้ไลน์ใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย (44 ล้านราย) ไต้หวัน (21 ล้านราย) และอินโดนีเซีย (19 ล้านราย)

ขณะเดียวกัน ไลน์ เพย์และวีซ่ากำลังร่วมกันพัฒนาเพื่อให้ร้านค้าในเครือข่ายวีซ่าใช้กระเป๋าเงินดิจิตอลและบริการของไลน์ เพย์ได้

สุดท้าย พันธมิตรคู่นี้ยังมีแผนนำเสนอบริการรองรับโอกาสที่โตเกียวจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปีหน้า ซึ่งการชำระเงินผ่านมือถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่รัฐบาลโตเกียวให้ความสำคัญเช่นเดียวกับแท็กซี่ไฮเทค โดยวีซ่าและไลน์เตรียมลุยโปรโมทโครงการพันธมิตร “ไร้เงินสด” ก่อนถึงปี 2020 เพื่อส่งเสริมสังคมไร้เงินสดในญี่ปุ่น

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ดูเหมือนขยายผลมาจากแผนการริเริ่มก่อนหน้านี้ในการออกบัตรเครดิตร่วมกันระหว่างไลน์กับวีซ่า และยังเป็นแผนการฟินเทคที่ใหญ่ขึ้นของไลน์ หลังจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทเพิ่งลงทุน 182 ล้านดอลลาร์ในไลน์ เพย์

ยองซู โก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ไลน์ เพย์ และไลน์ ฟินเทค ทิ้งท้ายว่า โครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายทั่วโลกของวีซ่าจะช่วยให้ผู้ใช้ไลน์ เพย์ได้รับประโยชน์จากเครือข่ายระดับโลกที่เป็นนวัตกรรมของวีซ่า

อย่างไรก็ตาม ไลน์และวีซ่าอาจไม่ใช่พันธมิตรคู่แรกที่จับระบบชำระเงินแบบเก่ามาคลุกเคล้ารวมกับระบบใหม่ ก่อนหน้านี้เพย์ทีเอ็มและโอลา คู่แข่งของอูเบอร์ในอินเดีย ต่างจับมือกับแบงก์ออกบัตรชำระเงิน ขณะที่ผู้ให้บริการชำระเงินระหว่างประเทศอย่างทรานส์เฟอร์ไวส์, มอนโซ และอีกหลายแห่ง จับมือกับวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้จ่ายให้แก่ลูกค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น