xs
xsm
sm
md
lg

ไฮสปีด 3 สนามบิน ปัญหาเพียบ “เสาโฮปเวลล์-ผู้บุกรุก” ร.ฟ.ท.นัดซีพีถกแผนส่งมอบพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ร.ฟ.ท.นัดซีพี เจรจาแผนส่งมอบพื้นที่ 14 มิ.ย.นี้ หนักใจช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง เจอทั้งผู้บุกรุก และปัญหาใหญ่เสาตอม่อโฮปเวลล์อีกนับร้อยต้น ร.ฟ.ท.ต้องรับภาระค่าทุบทิ้ง “วรวุฒิ” เผยมีเวลาส่งมอบ 5 ปี เคลียร์พื้นที่ปัญหาและเวนคืน

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงโครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544 ล้านบาท ว่าขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ก่อสร้างตลอดเส้นทางแล้ว โดย ในวันที่ 14 มิ.ย. นี้ จะประชุมร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ผู้ชนะการประมูลถึงรายละเอียดการใช้พื้นที่ก่อสร้าง

ทั้งนี้ แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่บนเขตทางรถไฟเป็นส่วนใหญ่ โดยจะไล่ไปตั้งแต่ต้นทาง ดอนเมือง-บางซื่อ-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ซึ่งมีหลายประเด็นที่ต้องหารือร่วมกัน ทั้งพื้นที่ที่มีผู้บุกรุก, พื้นที่ติดสัญญาเช่า, ติดเสาตอม่อโฮปเวลล์ เป็นต้น โดยจะสอบถามทางซีพีว่ามีแผนการก่อสร้างอย่างไร ในช่วง 2 ปีแรกต้องการพื้นที่ใดบ้าง เพื่อดูว่าพื้นที่นั้นๆ ติดขัดปัญหาใด สามารถส่งมอบให้ตามที่ซีพีต้องการหรือไม่ หากไม่ได้อาจจะต้องหารือเพื่อปรับแผน ซึ่งหลังลงนามสัญญามีเวลาในการส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดภายใน 5 ปี

โดยตามเงื่อนไขซีพีจะเป็นผู้รับผิดชอบค่ารื้อย้ายสาธารณูปโภค ส่วน ร.ฟ.ท.จะรับผิดชอบเรื่องผู้บุกรุก รวมถึงการรื้อย้ายเสาตอม่อโฮปเวลล์ด้วย

สำหรับจุดที่มีปัญหามากที่สุด คือ ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ ที่มีการทับซ้อนกันกับโครงการรถไฟไทย-จีน รวมถึงรถไฟทางไกล และรถไฟไทย-ญี่ปุ่นในอนาคตอีกด้วย


นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.จะหารือในการก่อสร้างช่วงที่เป็นคลองแห่ง บริเวณสถานีจิตรลดา ซึ่งแนวเส้นทางของรถไฟเชื่อม 3 สนามบินจะทับซ้อนกับโครงการรถไฟสายสีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ซึ่งทางซีพี จะต้องก่อสร้างโครงสร้างเผื่อสายสีแดงไปก่อน

“ตามแนวเส้นทางมีหลายจุดที่ติดปัญหา ทั้งผู้บุกรุก ติดปัญหาสัญญาเช่า ซึ่งต้องใช้เวลาในการจัดการ ประเด็นคือต้องรู้ว่าซีพีจะเข้าพื้นที่จุดใด ช่วงเวลาใด แต่หากซีพียืนยันต้องเข้าพื้นที่ที่ยังติดปัญหาให้ได้ตามที่วางแผนไว้ ก็ต้องถามถึงเหตุผลให้ชัดเจนเป็นเรื่องที่ต้องเจรจา ที่ผ่านมาเจรจามา 2 ครั้งแล้ว เพื่อมีโรดแมปการส่งมอบและแผนการเข้าพื้นที่เดียวกัน และรฟท.จะได้มีเวลาในการแก้ปัญหาและจัดการพื้นที่สำหรับส่งมอบได้”

สำหรับพื้นที่เวนคืนส่วนใหญ่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา รอการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีเวนคืนที่ดิน 850 ไร่ และสิ่งปลูกสร้าง 245 หลัง วงเงิน 3,570 ล้านบาท ทางซีพีรับทราบแล้วว่าจะต้องผ่านขั้นตอนเหล่านี้ก่อน

รายงานข่าวแจ้งว่า เสาตอม่อโฮปเวลล์มีการทุบไปแล้วบางส่วนช่วงก่อสร้างรถไฟสายสีแดง โดยใช้งบประมาณรื้อถอนกว่า 150 ล้านบาท ขณะที่ตามแนวพื้นที่ก่อสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง คาดว่าจะมีเสาตอม่อโฮปเวลล์กว่า 300 ต้น ซึ่งจะต้องหารือในรายละเอียดแผนการก่อสร้าง และตรวจเช็กตำแหน่งของเสาที่จะต้องทุบออก รวมถึงแนวก่อสร้างที่ทับซ้อนกับรถไฟไทย-จีน ด้วย จึงจะสรุปได้ว่าจะต้องทุบเสาตอม่อโฮปเวลล์กี่ต้น และจะต้องใช้งบประมาณดำเนินการรื้อถอนเท่าไหร่
กำลังโหลดความคิดเห็น