xs
xsm
sm
md
lg

เฟียตเบรกตัวโก่งล้มดีลผนวกเรโนลต์ โลกยานยนต์อยู่ยาก-คาดหาคู่ร่วมสู้ต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

“เฟียต-เรโนลต์” ไม่ได้ไปต่อ
ข้อเสนอผนวกกิจการแบบ 50-50 ที่เฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์ (เอฟซีเอ) ทาบทามเรโนลต์ดูน่าสนใจอย่างมากในสายตาผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน แต่ไม่ใช่สำหรับนิสสันและรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเหตุให้แผนผนวกสามชาติ ฝรั่งเศส-อิตาลี-อเมริกา เพื่อขึ้นเป็นผู้ผลิตรถใหญ่สุดอันดับ 3 ของโลกต้องปิดฉากลงกลางสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากประกาศข่าวดีไม่ทันถึงสองสัปดาห์ กระนั้น แหล่งข่าววงในแย้มเป้าหมายต่อไปของเฟียต ไครสเลอร์อาจเป็นผู้เล่นในเอเชีย

ปกติแล้วการผนวกกิจการจะต้องพยายามทำให้ผลประโยชน์ที่แตกต่างเป็นที่พอใจสำหรับทั้งสองฝ่ายมากที่สุด แต่ไม่ใช่สำหรับดีลนี้เพราะนอกจากมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกินสองแล้ว ยังมีเรื่องบทบาทและอิทธิพลของรัฐบาลฝรั่งเศสเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

การขอต่อเวลาอีก 5 วันของบอร์ดเรโนลต์คือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เฟียต ไครสเลอร์หมดความอดทนและล้มเลิกข้อเสนอที่หากสำเร็จจะทำให้เกิดบริษัทรถอันดับ 3 ของโลก ยิ่งถ้ารวมนิสสันที่เป็นพันธมิตรของเรโนลต์ด้วยแล้ว จะขึ้นเป็นผู้เล่นเบอร์ 1 ทันทีด้วยยอดขายรวมกัน 15 ล้านคันโดยประมาณ

ลองมาดูกันว่า ทำไมดีลนี้จึงไม่ได้ไปต่อ

ได้คืบเอาศอก
เรโนลต์มักถูกเปรียบเปรยเป็นมงกุฎประดับเพชรของอุตสาหกรรมฝรั่งเศส ขณะที่รัฐบาลแดนน้ำหอมกำลังถูกกดดันทางการเมืองให้พยายามรักษาตำแหน่งงานที่มีผลตอบแทนสูงไว้ให้ได้ ความภูมิใจของประเทศยังเป็นเดิมพันสูงมากที่ต้องพิจารณาในกรณีการผนวกกับเฟียต ไครสเลอร์ ซึ่งเป็นกิจการสัญชาติอิตาลี-อเมริกัน

ข้อเสนอของเฟียต ไครสเลอร์ในการถือหุ้นกิจการใหม่เท่าๆ กันส่งผลให้หุ้นของรัฐบาลฝรั่งเศสที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเรโนลต์ เหลือแค่ 7.5% แต่ยังมีตัวแทน 1 คนในบอร์ด

แหล่งข่าวคนหนึ่งเล่าว่า ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม บรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส พยายามขอคำรับรองว่า สำนักงานใหญ่ของบริษัทใหม่ต้องอยู่ในปารีส และถ้าจะมีการปลดพนักงาน ต้องเริ่มจากอเมริกาและอิตาลีก่อน การผนวกกิจการต้องไม่กระทบกรอบโครงการเป็นพันธมิตรของเรโนลต์-นิสสัน และกลุ่มบริษัทใหม่ต้องมีส่วนร่วมในโปรเจ็กต์พัฒนาแบตเตอรี่รถไฟฟ้า (อีวี) ของยุโรป

เฟียต ไครสเลอร์ดูเหมือนยอมรับข้อเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศสบางข้อหรือส่วนใหญ่ แต่จอห์น เอลคานน์ ประธานกรรมการบริษัท มุ่งมั่นสร้างองค์กรใหม่ที่ปลอดจากการเมืองแบบที่ครอบงำความสัมพันธ์ระหว่างเรโนลต์กับนิสสันมาจนถึงวันนี้

สัปดาห์ที่แล้ว บอร์ดเรโนลต์นัดหารือกันวันเดียวไม่จบต้องมีต่อภาคสอง แหล่งข่าววงในบอกว่า ราวเที่ยงคืนวันพุธ (5) ทีมเจรจาของฝรั่งเศสทำให้ฟางเส้นสุดท้ายขาดผึงด้วยการขอเลื่อนการโหวตรับข้อเสนอของเฟียต ไครสเลอร์ออกไปอีก 5 วันเพื่อให้แน่ใจว่า นิสสันเอาด้วยหรือสนับสนุนแบบเนือยๆ ก็ยังดี เพราะกลัวว่า บริษัทญี่ปุ่นแห่งนี้จะใช้เป็นข้ออ้างยุติความสัมพันธ์กับเรโนลต์
จอห์น เอลคานน์ ประธานกรรมการเฟียต ไครสเลอร์ เห็นด้วยกับเซอร์จิโอ มาคิโอเน่ อดีตซีอีโอที่เสียชีวิตเมื่อปีที่แล้วว่า ถ้าไม่มีเงื่อนไขเหมาะสมก็ไม่ควรยื้อต่อ
นิสสันไม่เคลียร์
เรโนลต์และนิสสันประสบความสำเร็จในการแบ่งปันข้อมูลและการออกแบบมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แต่ตอนนี้บริษัทรถยนต์กำลังเผชิญภาวะ disruption หรือการทำลายล้างเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัญหายอดขายหดตัวทั่วโลก และคู่แข่งจากวงการอื่นที่มีเทคโนโลยีแน่นปึ้กอย่างเทสลา หรือทุนหนาพร้อมทุ่มพัฒนารถไร้คนขับเต็มที่อย่างแอมะซอน และเวย์โมของกูเกิล รวมทั้งบริษัทรถหน้าใหม่ไฟแรงจากจีน

บริษัทรถยังต้องลงทุนมหาศาลในการพัฒนารถอัตโนมัติและอีวีเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานไอเสียที่เข้มงวดขึ้น โดยที่ยังต้องลุ้นระทึกว่า รถแห่งอนาคตเหล่านี้จะขายได้มากน้อยแค่ไหน เพราะนับวันผู้บริโภคยุคใหม่หันไปนิยมบริการไรด์แชริ่งอย่างอูเบอร์และแกร็บมากกว่าการซื้อรถ

ทั้งหมดนี้ทำให้พันธมิตรและการผนวกกิจการเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับบริษัทเก่าแก่อย่างเรโนลต์และนิสสัน รวมถึงค่ายรถอื่นๆ

นอกจากนั้น การที่คาร์ลอส โกส์น ผู้ผลักดันการเป็นพันธมิตรระหว่างเรโนลต์กับนิสสัน ถูกจับกุมด้วยข้อหาประพฤติมิชอบทางการเงิน ยังทำให้ฌอง-โดมินิก เซนาร์ ประธานกรรมการเรโนลต์ กับฮิโรโตะ ซาอิกาวะ ประธานบริหารนิสสัน ระแวดระวังกันอย่างปิดไม่มิด

มิหนำซ้ำเรโนลต์กับเฟียต ไครสเลอร์ยังถกเรื่องแผนผนวกลับหลังนิสสัน และเพิ่งจะมาแจ้งข่าวก่อนประกาศอย่างเป็นทางการไม่กี่ชั่วโมง

วันจันทร์ที่แล้ว (3) หรือก่อนที่บอร์ดเรโนลต์เรียกประชุม 1 วัน ซาอิกาวะออกแถลงการณ์ที่ฟังคล้ายคำเตือนว่า การผนวกระหว่างเฟียต ไครสเลอร์กับเรโนลต์จะต้องทบทวนความสัมพันธ์ที่มีอยู่เดิมเพื่อให้แน่ใจว่า ผลประโยชน์ของนิสสันได้รับการปกป้อง

ทั้งนี้ นิสสันถือหุ้นในเรโนลต์ 15% และเรโนลต์ถือหุ้น 43.4% ในนิสสัน

ต่อมา ตัวแทนของนิสสันในบอร์ดเรโนลต์บอกว่า ถ้าต้องโหวตทันที จะงดออกเสียงเพราะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการผนวกและแนวโน้มผลประโยชน์ขัดแย้ง เนื่องจากการผนวกจะส่งผลต่อสถานะของนิสสันในโครงการพันธมิตรกับเรโนลต์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ผู้เสียผลประโยชน์
สหภาพแรงงานฝรั่งเศสที่คาดว่า มีอิทธิพลอย่างมากในบอร์ดเรโนลต์ แสดงท่าทีชัดเจนว่า จะงดออกเสียงเช่นเดียวกัน เพราะยังคลางแคลงใจข้อเสนอของเฟียต ไครสเลอร์ และกลัวว่า จะมีการลอยแพคนงานอีก โดยนับจากปี 2005 เรโนลต์ปลดพนักงานในฝรั่งเศสมาแล้วอย่างน้อย 22,000 คน

สองสัปดาห์ที่แล้ว สหภาพแรงงานฝรั่งเศสเตือนว่า การที่หุ้นของรัฐบาลลดลง จะทำให้เฟียต ไครสเลอร์ใช้อำนาจในการสนับสนุนธุรกิจในอิตาลีมากกว่าฝรั่งเศส

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ที่คะแนนนิยมลดฮวบนับจากเผชิญการประท้วงของ “กลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง” เกี่ยวกับรายได้ที่ไม่เท่าเทียมและงานที่ไม่มั่นคง ไม่อาจยอมให้มีการปลดพนักงานครั้งใหญ่ได้อีกต่อไป หลังจากที่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม เจเนอรัล อิเล็กทริกประกาศแผนปลดพนักงาน 1,000 คนในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการผนวกกับอัลสตรอม บริษัทพลังงานแดนน้ำหอม นอกจากนั้นยังมีบริษัทต่างชาติอีกหลายแห่งกำลังเดินหน้าปลดพนักงานหลายพันตำแหน่งในฝรั่งเศส
บรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจฝรั่งเศส ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่มีการเมืองมาเกี่ยวข้อง
โอกาสรีเทิร์น??
เฟียต ไครสเลอร์ออกแถลงการณ์ยกเลิกข้อเสนอโดยให้เหตุผลว่า สภาวะทางการเมืองในฝรั่งเศสไม่เอื้ออำนวยให้การผนวกกิจการนี้สำเร็จลุล่วง และว่า รัฐบาลฝรั่งเศสพยายามเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหลายอย่างจนดูเหมือนว่า ต้องการเข้าควบคุมบริษัทใหม่เต็มตัว

ขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสตอกกลับว่า การวางอำนาจและการเร่งเร้าของเฟียต ไครสเลอร์ให้รีบตัดสินใจว่า จะรับหรือปฏิเสธข้อเสนอต่างหากที่เป็นสาเหตุให้ดีลล่ม ก่อนผ่อนน้ำเสียงอ่อนลงว่า โอกาสในการผนวกยังคงเปิดกว้าง แต่ต้องไม่รีบร้อนเกินไปเพื่อให้มั่นใจว่า ผลประโยชน์ของเรโนลต์และฝรั่งเศสได้รับการรับประกัน เลอ แมร์ยังยืนยันว่า ไม่มีการเมืองมาเกี่ยวข้องจริงๆ

อิลานา เอลบิม นักวิเคราะห์สินเชื่อของแอร์เมส อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ ชี้ว่า การที่ดีลเฟียต ไครสเลอร์-เรโนลต์ล่ม ทำให้ทั้งสองบริษัทมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ และย้ำว่า ยอดขายรถขาลงในตลาดใหญ่หลายแห่งทำให้การผนวกกิจการเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านเงินทุนเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้

การรวมตัวระหว่างเฟียต ไครสเลอร์กับเรโนลต์จะช่วยให้ทั้งสองบริษัทแบ่งปันต้นทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญ เช่น อีวีและรถอัตโนมัติ และยังช่วยกำจัดจุดอ่อนของกันและกัน

ในทางตรงข้าม การที่ดีลล่มอาจทำให้ความพยายามของเซนาร์ในการฟื้นการเจรจาผนวกกับนิสสันเต็มรูปแบบที่ถูกปฏิเสธก่อนหน้านี้เป็นไปได้ยากขึ้น มิหนำซ้ำบริษัทที่อาจเคยอยากดองกับเรโนลต์อาจขยาดการล้วงลูกของรัฐบาลฝรั่งเศส เหนือสิ่งอื่นใด ความล้มเหลวครั้งนี้ตอกย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงและการผนวกกิจการเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อนอย่างมากสำหรับบริษัทรถยักษ์ใหญ่

ส่วนเอลคานน์บอกว่า เฟียต ไครสเลอร์ยังคงอ้าแขนรับพันธมิตรและโอกาสในการเพิ่มมูลค่า

ขณะที่ผู้ใกล้ชิดทิ้งท้ายชวนติดตามว่า เฟียต ไครสเลอร์อาจหันไปหาพันธมิตรร่วมอุดมการณ์รายใหม่ ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเป็นบริษัทจีนหรือเกาหลีใต้

---------

วิวาห์/หย่าร้างวงการรถยุโรป

เฟียต ไครสเลอร์-เรโนลต์ไม่ใช่คู่เดียวที่ไปไม่ถึงฝันในการร่วมกันต่อสู้ความท้าทายและสร้างรูปแบบใหม่ให้วงการยานยนต์ยุโรป และต่อไปนี้คือดีลใหญ่นับจากทศวรรษ 1990 ที่บางดีลเหลือเพียงอดีต

เดมเลอร์ไครสเลอร์ไปไม่รอด
ปี 1998 เดมเลอร์-เบนซ์ของเยอรมนี เสนอผนวกกิจการแบบ 50-50 กับไครสเลอร์ ค่ายรถอเมริกันที่ประสบปัญหาอยู่ในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม เดมเลอร์ลงทุน 36,000 ล้านดอลลาร์กับการจับคู่และเป็นผู้คุมเกมตั้งแต่ต้น

7 ปีต่อมา การร่วมหอส่อแววมีปัญหา เจอร์เกน ชเรมป์ นายใหญ่เดมเลอร์ลงจากตำแหน่ง และผู้มาแทนคือ ดีเทอร์ เซทเช ขายหุ้น 80.1% ในไครสเลอร์ให้เซอร์เบอรัส แคปิตอล แมเนจเมนต์ของอเมริกา ในราคา 6,200 ล้านดอลลาร์ช่วงต้นปี 2007

เฟียตปักใจแบรนด์อเมริกัน
ปลายทศวรรษ 1990 เฟียตภายใต้การควบคุมของตระกูลแอกเนลลี สอดส่องมองหาคู่และลงเอยด้วยการมอบหุ้น 20% ให้เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) พี่ใหญ่แห่งดีทรอยต์ในปี 2000

แต่จนแล้วจนรอดสถานการณ์ของเฟียตยังไม่กระเตื้อง เดือนกุมภาพันธ์ 2005 จีเอ็มยอมจ่าย 1,700 ล้านดอลลาร์เพื่อยกเลิกออปชั่นในการซื้อหุ้นที่เหลือของเฟียต

กระนั้น 4 ปีให้หลัง ตะวันตกเผชิญวิกฤตการเงิน และเฟียตพลิกบทช่วยกอบกู้สถานการณ์ไครสเลอร์

เรโนลต์-นิสสันสัมพันธ์เครียด
ปี 1999 เรโนลต์ซื้อหุ้น 36.8% ในนิสสันที่ตอนนั้นเกือบล้มละลายรอมร่อ และซื้อแบรนด์ดาเซียของโรมาเนีย

คาร์ลอส โกส์น นายใหญ่เรโนลต์ สามารถผนึกค่ายรถฝรั่งเศสกับญี่ปุ่นและขึ้นเป็นประธานของทั้งสองบริษัทในปี 2005 ส่วนดาเซียได้ดิบได้ดีจากที่เคยเป็นบริษัทรถยุโรปตะวันออกที่ถูกเยาะหยันกลายเป็นแบรนด์โลว์คอสต์ยอดนิยม

เรโนลต์และนิสสันถือหุ้นไขว้กัน โดยเรโนลต์ถือหุ้นในนิสสัน 43% และนิสสันถือหุ้นในเรโนลต์ 15% นอกจากนั้นบริษัทรถญี่ปุ่นแห่งนี้ยังถือหุ้นที่มีสิทธิ์ควบคุมในมิตซูบิชิ มอเตอร์ ผู้ผลิตร่วมชาติ และปี 2017 เรโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิตกลงเป็นพันธมิตรและมียอดขายรถรวมกัน 10.8 ล้านคัน

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ที่ไม่สมดุลทำให้เกิดแรงเสียดทานรุนแรงที่ถูกตอกย้ำจากการจับกุมโกส์นในโตเกียวเมื่อปลายปีที่แล้วในข้อหาประพฤติมิชอบทางการเงิน

วอลโว่: จากฟอร์ดสู่อ้อมอกจีลี่
ปี 1999 ฟอร์ดเข้าซื้อวอลโว่ของสวีเดนด้วยเงิน 6,450 ล้านดอลลาร์ ทว่า ไม่กี่ปีต่อมา การแข่งขันจากผู้เล่นญี่ปุ่นและราคาน้ำมันที่ดีดขึ้นเช่นเดียวกับราคาเหล็กกล้า ทำให้ฟอร์ดเชื่อว่า ถึงเวลาหาคนรับช่วงวอลโว่ต่อ

ปลายปี 2009 ฟอร์ดขายวอลโว่ให้จีลี่ของจีนในราคา 1,800 ล้านดอลลาร์

พีเอสเอซื้อโอเปิล
ปี 2017 พีเอสเอ เจ้าของเปอโยต์, ซีตรอง และดีเอส ประกาศแผนซื้อบริษัทในเครือในยุโรปของจีเอ็ม ซึ่งรวมถึงโอเปิลและโวกซ์ฮอลล์ เพื่อสร้างบริษัทรถอันดับ 2 ในยุโรป รองจากโฟล์กสวาเกน

ปัจจุบัน โอเปิลของเยอรมนีที่เพิ่งทำกำไรเป็นเมื่อปีที่แล้ว กำลังเร่งขยายตัวในต่างประเทศ และเล็งบุกตลาดรัสเซียอีกรอบหลังถอนตัวออกมากว่า 3 ปี

ตรงข้ามกับโวกซ์ฮอลล์ที่กำลังดิ้นรนอย่างหนักเพื่อรับมือความไม่แน่นอนของเบร็กซิต และการที่ดีมานด์รถใช้น้ำมันดีเซลดิ่งแรง
กำลังโหลดความคิดเห็น