xs
xsm
sm
md
lg

งงดิ! “มูจิ-ไดโซ-ยูนิโคล” #บอยคอตญี่ปุ่น #แบรนด์ไหนยุ่นแท้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

ป้ายเชิญชวนบอยคอตสินค้าญี่ปุ่นติดหราเตือนคนเกาหลีใต้

ข้อความปลุกระดมบอยคอตสินค้าญี่ปุ่นปลิวว่อนโซเชียลเกาหลีใต้ นับจากที่โตเกียวประกาศจำกัดการส่งออกวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าไฮเทคบางอย่างให้เพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเมื่อต้นเดือน โดยส่วนใหญ่เรียกร้องง่ายๆ ให้แบนสินค้าที่ชื่อฟังดู “ญี่ปุ่น” โดยลืมนึกไปว่าการระบุที่มาของผลิตภัณฑ์หรือบริษัทในยุคธุรกิจไร้พรมแดนและแบรนด์ข้ามชาติดูเหมือนพูดง่ายกว่าทำ และอาจกลับกลายเป็นการ “หยิกเล็บเจ็บเนื้อ” โดยไม่รู้ตัว


ความขัดแย้งเกี่ยวกับการจำกัดการส่งออกและการชดเชยการบังคับใช้แรงงานในช่วงสงคราม กำลังทำให้ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากหันหลังให้ผลิตภัณฑ์ที่มีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น

ปลายสัปดาห์ที่แล้ว “#บอยคอตญี่ปุ่น” ยังคงเป็นคีย์เวิร์ดยอดฮิตบนทวิตเตอร์ในเกาหลีใต้ นอกจากนั้น ผลสำรวจความคิดเห็นชาวแดนกิมจิ 501 คนโดยบริษัทวิจัยท้องถิ่น “รีลมิเตอร์” เมื่อวันที่ 11 ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 70% จะร่วมคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่น

ทว่า ในยุคธุรกิจไร้พรมแดนและแบรนด์ข้ามชาติ การระบุที่มาของผลิตภัณฑ์หรือบริษัทดูเหมือนพูดง่ายกว่าทำ นำไปสู่ความสับสนว่า ผู้บริโภคเกาหลีใต้ควรบอยคอตสินค้าหรือบริษัทใดกันแน่ โดยแบรนด์ที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียเกาหลีใต้เน้นให้ร่วมใจโจมตีมี เช่น มูจิ, ไดโซ, เอบีซี มาร์ต, ยูนิโคล, เอสิกส์, 7-อีเลฟเว่น, โซนี่ และนินเทนโด

วลีที่ได้ยินบ่อยมาก เช่นที่คิม แด-ยอง หนุ่มนักศึกษาวัย 21 ปี บอกก็คือ “ถ้าชื่อฟังดูญี่ปุ่น แบรนด์นั้นก็น่าจะเป็นญี่ปุ่นแหละ” แต่ความจริงไม่ได้ง่ายแบบนั้น

ในเกาหลีใต้ แบรนด์มากมายที่ดูเหมือนเป็นของต่างชาติ แท้ที่จริงกลับเป็นของบริษัทท้องถิ่นหรือดำเนินการโดยบริษัทท้องถิ่น

ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งเรียกร้องให้ผู้บริโภคเกาหลีใต้อยู่ให้ไกลเอาต์เล็ต 187 สาขาของยูนิโคล เพื่อบอยคอตต์เจ้าของ (ที่เป็นญี่ปุ่น)

ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว “ล็อตเต้” กลุ่มกิจการยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ถือหุ้น 49% ในฟาสต์ รีเทลลิ่ง โคเรียซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์ยูนิโคลในเกาหลีใต้ และยังถือหุ้น 40% ในแบรนด์มูจิที่จำหน่ายในแดนโสมขาวเช่นเดียวกัน

ตัวล็อตเต้เองนั้นอาจพูดได้ว่า คุ้นเคยดีกับการตกเป็นเป้าหมายเมื่อเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นปีนเกลียวหนัก ที่มาที่ไปของล็อตเต้ก็สับสนไม่ใช่น้อย เพราะแม้กลุ่มกิจการแห่งนี้ที่ทำธุรกิจแทบทุกอย่างตั้งแต่อาหารจนถึงบ้านจัดสรรและสวนสนุกในเกาหลีใต้ และว่าจ้างพนักงานกว่า 60,000 คนทั่วโลก รวมทั้งยังเรียกตัวเองว่า เป็นกลุ่มกิจการเกาหลีใต้อย่างเต็มภาคภูมิ ทว่า หากย้อนดูประวัติจะพบว่า ล็อตเต้เปิดตัวครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี 1948 ก่อนขยับขยายสู่เกาหลีใต้ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผู้ก่อตั้งคือ ชิน ฮย็อก-โฮ วัย 96 ปี ในเวลาต่อมา

ชิน ที่รู้จักกันในชื่อ ทาเคโอะ ชิเกมิตสึ ในญี่ปุ่น เกิดในเกาหลีช่วงที่ถูกญี่ปุ่นเข้ายึดครองตั้งแต่ปี 1910-1945 เขาจบการศึกษาในโตเกียว สร้างเนื้อสร้างตัวและก่อตั้งล็อตเต้ในญี่ปุ่นก่อนย้ายกลับบ้านเกิด

อย่างไรก็ตาม ชื่อ “ล็อตเต้” ไม่ใช่ทั้งภาษาญี่ปุ่นหรือเกาหลี แต่ที่จริงเป็นภาษาเยอรมันโดยหยิบยืมมาจากชื่อตัวละครในนิยายของโยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ

แต่คนมากมายในเกาหลีใต้ยังไม่เลิกสงสัยต้นกำเนิดของล็อตเต้ และเคยกล่าวหาว่า เป็นบริษัทญี่ปุ่นเพราะชื่อฟังดูญี่ปุ่นเท่านั้น

คิมยังตั้งข้อสังเกตว่า ชิน ดอง-จู ลูกชายคนโตของผู้ก่อตั้งล็อตเต้ “พูดภาษาเกาหลีใต้แย่แถมปนสำเนียงญี่ปุ่น” ดังนั้น สังคมจึงไม่เห็นใจเลยตอนที่เขาต้องรบราแย่งชิงอำนาจการควบคุมบริษัทในปี 2012 กับน้องชาย

ความอาฆาตมาดร้ายระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นมีสาเหตุสำคัญจากการเข้ายึดครองคาบสมุทรเกาหลีของญี่ปุ่นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ส่วนกรณีล่าสุดปะทุขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การที่โตเกียวไม่ยอมรับว่า หญิงบำเรอเกาหลีใต้ในช่วงการยึดครองเป็น “ทาสบำเรอกาม” ไปจนถึงเรื่องสิทธิ์การเป็นเจ้าของหมู่เกาะที่เป็นข้อพิพาทในน่านน้ำระหว่างสองประเทศ

อีกปัญหาหนึ่งคือ การที่ชาวเกาหลีใต้ในญี่ปุ่นยังคงถูกเลือกปฏิบัติจนถึงวันนี้ กระนั้น คนที่ได้ชื่อว่ารวยที่สุดในญี่ปุ่นตอนนี้คือ มาซาโยชิ ซัน ผู้ก่อตั้งซอฟต์แบงก์ เป็นชาวเกาหลีที่เกิดในญี่ปุ่น และเมื่อเร็วๆ นี้ ซอฟต์แบงก์ยังเข้าลงทุนในคูแปง เว็บชอปปิ้งออนไลน์ของเกาหลีใต้

นอกจากนั้นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นจำกัดการส่งออกชิ้นส่วนสำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์ไฮเทคให้เกาหลีใต้อันเป็นที่มาของกระแสบอยคอตในขณะนี้คือ ข้อพิพาทเกี่ยวกับค่าชดเชยที่ญี่ปุ่นต้องจ่ายให้แรงงานเกาหลีใต้ที่ถูกบังคับในช่วงสงคราม ซึ่งล่าสุดเมื่อวันศุกร์ (19) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รับปากว่าพร้อมช่วยไกล่เกลี่ยตามที่ประธานาธิบดีมุน แจ-อินของเกาหลีใต้ขอมา

อย่างไรก็ตาม แม้ทะเลาะเบาะแว้งกันมาเป็นสิบปี แต่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นยังร่วมมือและมีความสัมพันธ์ทั้งด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่นไดโซที่สื่อเกาหลีใต้ยกให้เป็นร้านค้าปลีกเบอร์ 1 ของประเทศที่ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากแวะจับจ่ายสัปดาห์ละหลายครั้ง

ตามประวัตินั้น ไดโซเปิดตัวครั้งแรกในเกาหลีใต้ระหว่างทศวรรษ 1990 โดยใช้ชื่ออื่นก่อนที่จะรีแบรนด์หลังทำสัญญาร่วมทุนกับไดโซ เจแปน

ปัจจุบัน บริษัทเกาหลีใต้ Asung HMP ถือหุ้นเกินครึ่งในไดโซ โคเรีย ขณะที่ไดโซ อินดัสทรีส์ของญี่ปุ่นถือเพียง 34% นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์ที่วางขายยังมีความเป็นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เท่าๆ กันเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนทั้งสองชาติ และสินค้าจำนวนมากผลิตในจีน

ผู้ใช้ทวิตเตอร์เกาหลีใต้คนหนึ่งที่รับรู้ข้อเท็จจริงนี้ทวิตเตือนเพื่อนร่วมชาติให้บอยคอตเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีโลโก้ “ไดโซ เจแปน” บนแท็กราคา

อีฟส์ ทิเบอร์เกง นักรัฐศาสตร์และผู้อำนวยการกิตติคุณของสถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ชี้ว่า รสนิยมและความชอบของผู้บริโภคเกาหลี-ญี่ปุ่นค่อยๆ หลอมรวมกัน ขณะที่ห่วงโซ่การผลิต เครือข่าย และกลยุทธ์การตลาดเกี่ยวร้อยเข้าด้วยกันกระทั่งผู้บริโภคไม่สามารถรู้ได้ว่า ชิ้นส่วนไหนเป็นของญี่ปุ่นหรือเกาหลี โดยเฉพาะในกรณีไดโซ แม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่มี “รสชาติ” หรือรูปลักษณ์ที่ชี้ชัดถึงประเทศหนึ่งๆ แต่ที่จริงแล้วกลับเป็นสินค้า “ไฮบริด” ที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนจากทั่วโลก

ทิเบอร์เกงยกตัวอย่าง “ไลน์” แอปรับส่งข้อความยอดนิยมของญี่ปุ่นที่แม้พัฒนาโดยไลน์ คอร์เปอเรชันในโตเกียว แต่เจ้าของตัวจริง คือ เนเวอร์ บริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้


กำลังโหลดความคิดเห็น